เมื่อเวลา​ 13.00 น.​ วันที่ 28 ต.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ​ ใสยเกื้อ​ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี​ เดินทางเข้าทำเนียบฯ และให้สัมภาษณ์​สื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นการมาพบและทักทายกัน ซึ่งตนจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกฯ มอบหมาย รวมถึงการประสานงานทางการเมือง การเคลื่อนไหว อื่นๆ​ โดยทำงานร่วมกับคณะทำงาน ซึ่งสถานที่ทำงานของตนจะใช้บ้านพิษณุโลกเป็นหลัก​

 

เมื่อถามว่า ต้องดูเรื่องกลุ่มผู้ชุมนุมต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง​ยังไม่ได้ปรากฎความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง​ ส่วนผู้ชุมนุมที่มีข้อเรียกร้อง หรือประสบความเดือดร้อนจากปัญหาการทำกิน หรือการดำรงชีพก็มี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ ประสานงานความคืบหน้าอยู่แล้ว

 

เมื่อถามว่า​ ในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการชุมนุม สถานการณ์ตอนนี้ จะมีกลุ่มการเมืองออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่​ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ การเคลื่อนไหวมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ อดีตนายกฯ ที่มาชุมนุมตรงสะพานชมัยมรุเชฐ​ หรือการรวมตัว และแสดงความคิดเห็นต่างๆ​ แต่การชุมนุมที่มีมวลชนขนาดใหญ่​ หลักหมื่น​ หลักแสนคนเป็นเวลานานๆ​ อย่างที่เคยเห็นในรอบ 20 ปีมา ตนเข้าใจว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มีหน่วยงานหรือปฏิบัติการอะไร​ ที่จะติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ​ เพราะเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า​

 

เมื่อถามว่า​ 3 สัปดาห์ที่เข้ามาทำหน้าที่ ที่ปรึกษาของนายกฯ ได้ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำอะไรบ้าง​ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ​ เราใช้การพูดคุยกันในวงคณะทำงาน ตนไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรถึงรัฐบาล​หรือนายกฯ หากเราเห็นว่าเรื่องนี้มีมุมมองอย่างไรหรือประเมินสถานการณ์แบบไหนก็นำเรียนไปตามช่องทาง

 

เมื่อถามว่า เรื่องนิรโทษกรรมจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวกระทบถึงรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ เรื่องนี้นิรโทษกรรมต้องแยกเป็น 2 ส่วน​ ส่วนที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันไม่มีข้อโต้แย้ง คือเห็นชอบว่าควรจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา​ 

 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนที่ยังเห็นต่าง เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออก​จะมานั้น จะครอบคลุมถึงความผิด หรือการดำเนินคดีข้อหาใดบ้าง ​โดยเฉพาะมาตรา 112 ที่ยังมีข้อเห็นต่างกันอยู่​ ซึ่งตนเห็นว่า สภากำลังจะปิดสมัยประชุม​และจะมีการพิจารณากฎหมายนี้หรือไม่อย่างไร ช่วงเวลาไหนก็อยู่ที่สมัยประชุมหน้า​ ดังนั้น​ช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากการประชุมสภา​ฯ​  ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ภาคประชาชนที่เคลื่อนไหว​คงจะมีการปรึกษาหารือกัน​ และเดินหน้าเรื่องนี้ หลักการคือ การรักษาบรรยากาศไม่ให้ช่วงเวลานี้มีเงื่อนไขความขัดแย้งอะไร​ เช่น​ พรรคเพื่อไทย​ โดยนายภูมิธรรม​ เวชย​ชัย​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม​ ระบุว่า จะมีกรรมการยุทธศาสตร์ และกรรมการบริหาร​หารือและมีข้อสรุปว่า จะมีร่างออกมา​ประกบหรือไม่​ คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เขาคุยกันภายใน​ถึงเวลา ก็ต้องเอาไปคุยกันในสภา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐสภา ที่จะไปพูดคุยกัน​ 

 

"ส่วนจุดยืนของผมต่อเรื่องนี้ ผมได้แสดงความเห็นไปหลายที่ ยังคงมีจุดยืนเดิม และนี่เป็นจุดยืนส่วนตัวที่พูดมาตลอด​ ก่อนที่จะมาทำหน้าที่และหวังใจว่า เวลาที่ยังเหลืออยู่ ข้อขัดแย้งหรือข้อแตกต่างแต่ละฝ่าย​ ที่กำลัง​คิดไม่เหมือนกัน​ น่าจะยังมีเวลาปรึกษาหารือกันแลกเปลี่ยนกันได้" นายณัฐวุฒิ​ กล่าว

 

เมื่อถามว่า มีชนวนใดที่จะทำให้จุดม็อบได้ นายณัฐวุฒิ​ กล่าวว่า​ การไม่ไปเพิ่มเงื่อนไข ความขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อันนี้เป็นเรื่องหลักที่ทุกรัฐบาลไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ ต้องยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว​ และจะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน​ จนกระทั่งนายกฯ นางสาวแพทองธาร​ ก็ไม่ได้มีท่าทีทำนองนี้ 

 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องใหญ่ที่สุดของรัฐบาล​ คือพยายามผลักดันนโยบาย​ หรือเนื้องานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญ​ แต่การจัดบรรยากาศ การจัดเวที​ในการดำเนินการเรื่องนี้​ มันมีความละเอียดอ่อน คิดว่าควรให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายสภาว่ากันไป​ ใครมีความคิดเห็นแบบไหนก็แสดงออกกันด้วยท่าทีและเวทีที่เหมาะสม น่าจะดีที่สุด

 

เมื่อถามว่า ตั้งแต่มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับนายแพทย์​เหวง​ โตจิราการ​ อดีตแกนนำ​ นปช.​ ออกมาเตือนว่า​ สักวันสิ่งที่ นายณัฐวุฒิ​เคยทำหรือพูดไว้​ อาจจะกลับมาทำลายตัวเอง​ นายณัฐ​วุฒิ​ กล่าวว่า​ ยังไม่ได้มีโอกาสคุยกันเป็นทางการ​ส่วนตัว​ แต่ตนก็มีเหตุผลในการตัดสินใจ​ มีวิถีทางในการเลือกเดิน และยังแน่ใจว่า ความเป็นตนเองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน​ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง​ วิธีการคิดและเดิน​ อาจมีการปรับเปลี่ยนบ้าง ไปตามสถานการณ์​ แต่เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากเพื่อนมิตรและพี่น้อง ตนเลือกที่จะเงียบ และทำตามในสิ่งที่เชื่อ เดินตามทางที่เลือก ให้เวลามันอธิบายเรื่องทั้งหมดดีกว่า

 

เมื่อถามว่า นโยบายดิจิทัลรวมถึงงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ดูเหมือนจะยากขึ้น ต้องมีอะไรออกมาหรือไม่​ เพื่อเรียกความเชื่อมั่น​และเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป​ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า​ ทุกนาทีรัฐบาลเร่งทำงานกันอยู่แล้ว​ แต่ยังมีเวลาอยู่เกือบ 3 ปี เรื่องอะไรก็ตามที่สื่อมวลชนบอกว่ายาก​อาจจะคลี่คลายง่ายขึ้น​ และมีผลที่ปฏิบัติได้ การทำงานทางการเมืองในรัฐบาลผสม​ ไม่มีอะไรที่จะเดินไปได้ก้าวใหญ่ๆ และเร็วทุกเรื่องอยู่แล้ว  เรื่องที่เห็นด้วยและเรื่องที่เห็นต่าง​ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะหาทางและมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้เดินไปต่อได้ เมื่อพรรคเพื่อไทย​ตัดสินใจ​ที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ความรับผิดชอบทั้งหลายต่อปัญหาของประชาชนก็ต้องทำกันให้เต็มที่​ นโยบายและการแก้ไขปัญหาต่างๆ จะปรากฏชัด​ ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ​