มกอช. เผยความก้าวหน้าการประชุม CCRVDF ครั้งที่ 27 ทีมไทยย้ำบทบาทผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยสารตกค้างจากยาสัตว์ในอาหารในระดับสากล
วันที่ 28 ต.ค.67 สพ.ญ.ดร.มินตรา ลักขณา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการทีมไทย เปิดเผยผลการประชุม Codex Committee on Residues of Veterinary Drugs in Food (CCRVDF) ครั้งที่ 27 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 ตุลาคม 2567 ณ เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา สหรัฐอเมริกา ซึ่งทีมไทยที่เข้าร่วมเข้าประชุมนำโดย สพ.ญ.จุฬาพร ศรีหนา ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบและรับรองคุณภาพอาหารสัตว์อุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นางสุภาน้อย ทรัพย์สินเสริม ผู้เชี่ยวชาญด้านตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กรมประมง สพ.ญ.นรยา ตั้งศิริทรัพย์ กรมปศุสัตว์ ดร.นันทิยา อุ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
ที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นสำคัญเพื่อพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยด้านสารตกค้างจากยาสัตว์ในอาหาร เช่น การกำหนดค่า MRL สำหรับยาสัตว์ เช่น clopidol ในไก่ และ imidacloprid ในปลา ซึ่งจะเสนอเพื่อพิจารณารับรองในการประชุม CAC (ขั้นที่ 5/8) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงการพิจารณาเสนอค่า MRL ของ fumagillin dicyclohexylamine ในปลาและน้ำผึ้งในขั้นที่ 5 แม้ข้อมูลในปัจจุบันยังมีจำกัดก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเกณฑ์การประมาณค่า MRL เพิ่มเติมสำหรับสัตว์ตระกูลอูฐ และได้หารือการประมาณค่า MRL สำหรับเนื้อเยื่อเครื่องในเพิ่มเติมเพื่อขยายขอบเขตความปลอดภัยของสารตกค้างให้ครอบคลุมมากขึ้น
ฝ่ายเลขานุการ มกอช. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีความคืบหน้าในการกำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการปนเปื้อนข้ามของยาสัตว์ (drug carryover) ในการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยา (medicated feed) ไปยังอาหารสัตว์ธรรมดา (feed) โดยไม่ได้ตั้งใจและหลีกเลี่ยงไม่ได้ (unavoidable and unintentional) ซึ่งช่วยสนับสนุนความปลอดภัยอาหารในระดับสากล โดยได้กำหนดเกณฑ์สำหรับ action level ในอาหารที่มีสาเหตุจากการปนเปื้อนข้ามของยาสัตว์ดังกล่าว ร่วมสนับสนุนการทำงานของ Codex Committee on Pesticide Residues ในการประสานค่า MRL ของ dual use compound ซึ่งจะช่วยให้มาตรฐานการจัดการสารตกค้างเป็นไปอย่างรัดกุมและครอบคลุมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้จัดทำรายการลำดับความสำคัญของยาสัตว์ที่ต้องกำหนดค่า MRL, extrapolated MRL และ action level เพื่อพิจารณาต่อไป
การประชุมครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยอาหารของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นการยืนยันบทบาทของ มกอช. ในการพัฒนามาตรฐานอาหารระดับโลกอย่างต่อเนื่อง