Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.64-33.80 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ซึ่งยังคงได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แม้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก็ตาม นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน รวมถึงการทยอยขายเงินดอลลาร์ใกล้โซนแนวต้าน 33.85 บาทต่อดอลลาร์ จากฝั่งผู้ส่งออก (Exporters)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และจังหวะย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึง ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (เน้นหุ้นเทคฯ ใหญ่)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ ใหญ่ The Magnificent 7 ทั้ง Alphabet, Microsoft, Meta, Amazon และ Apple ซึ่งรายงานผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนั้น มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศตอบโต้การโจมตีของอิหร่านก่อนหน้า ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้ง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 และอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB
▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ฝั่งญี่ปุ่น โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (Lower House Election) ซึ่งผลการเลือกตั้งล่าสุดสะท้อนว่า พรรค LDP (รัฐบาลปัจจุบัน) และพันธมิตร Komeito ได้ที่นั่งในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือ 233 ที่นั่ง ทำให้ในระยะสั้น การเมืองญี่ปุ่นอาจมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งอาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินญี่ปุ่น และกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงานและยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือ การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOJ โดยในการประชุมครั้งนี้ เรามองว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% ทว่าต้องจับตาการส่งสัญญาณของ BOJ ต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ซึ่งผลการเลือกตั้งล่าสุดก็อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ ได้ ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนตุลาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจ เช่น ยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) และดุลการค้า (Trade Balance) เดือนกันยายน ดัชนี PMI ภาคการผลิต และ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ เดือนตุลาคม และนอกจากนี้ ควรจับตางานสัมนา Monetary Policy Forum โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOT พร้อมกันนั้น ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็มีส่วนกดดันค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงเชื่อว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลง ทว่าการอ่อนค่าก็อาจค่อยเป็นค่อยไป หากราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งนอกเหนือจากทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ควรจับตาทิศทางสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) รวมถึง เงินหยวนจีน (CNY) อนึ่ง เงินบาทอาจยังคงถูกกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ และแรงซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้นำเข้า (Importers)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า โดนัลด์ ทรัมป์อาจชนะการเลือกตั้งและความต้องการถือเงินดอลลาร์ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น แต่เงินดอลลาร์ก็อาจถูกกดดันได้พอสมควร หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-34.25 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.85 บาท/ดอลลาร์
#กรุงไทย #เงินบาท #ข่าววันนี้ #เงินตรา #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์