นิด้าโพลเผยประชาชนส่วนใหญ่เชื่อรัฐบาลอิ๊งค์อยู่ครบเทอม ระบุ12 ปัจจัยโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเสี่ยงฉุดรัฐบาลไปไม่รอด "อนุสรณ์" มั่นใจเพื่อไทยมีเสถียรภาพ แจงพรรคให้เอกสิทธิ์ส.ส.โหวตปมนิรโทษกรรม ด้าน"เรืองไกร" ร้องกกต.สอบ 6 ส.ส. มีเหตุสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่
เมื่อวันที่ 27 ต.ค.67 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-22 ต.ค.67 พบว่าประชาชน ร้อยละ 41.68 เชื่อว่ารัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอยู่รอดจากสถานการณ์ทางการเมือง และไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570 ขณะที่ร้อยละ 19.08 เชื่อว่ารัฐบาลจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (ปี 2569) แต่ร้อยละ 16.87 เชื่อว่าจะไปต่อได้อีก 1 ปี (ปี 2568) ร้อยละ 11.99 เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 ร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบหรือไม่สนใจ
เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลของ น.ส.แพทองธารไปต่อไม่ได้ พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.43 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง ร้อยละ 32.52 ระบุว่ากลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยัง นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 29.47 ระบุว่า การบริหารที่ผิดพลาดของน.ส.แพทองธารจนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤติ ร้อยละ 28.85 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยัง น.ส.แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 19.77 ระบุว่า การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล
ร้อยละ 16.64 ระบุว่าไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ได้ ขณะที่ร้อยละ 10.92 ระบุว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 9.62 ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 9.08 ระบุว่าการทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล ร้อยละ 8.24 ระบุว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีประเด็นอ่อนไหว ร้อยละ 8.09 ระบุว่าประเด็นคดีตากใบ ร้อยละ 6.95 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง ที่เตรียมเข้าสู่การประชุมสภา ในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดในวันที่ 12 ธ.ค. พรรคเพื่อไทยจะมีการเสนอร่างเข้าประกบด้วยหรือไม่ ว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้พูดคุยกันเรื่องนี้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีเวลา อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคที่จะพิจารณา ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาต่อไปว่าจะเสนอร่างนิรโทษกรรมประกบไปด้วยหรือไม่
นายภูมิธรรม กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าพรรคเพื่อไทยควรเสนอร่างประกบไปด้วย ทั้งนี้ ตนมองว่าเรื่องการนิรโทษกรรมนั้น หากเป็นกรณีในความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น บางคนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมแต่ถูกจับโยงเข้าไป รวมถึงการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง ควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่ความผิดทางอาชญากรรม แต่หากเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยืนยันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมในเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นเจตจำนงตั้งแต่ต้นของพรรค พท.ตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลมา ที่สำคัญเรื่องการกระทำผิดหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่สังคมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็ไม่ควรจะหยิบมาเป็นประเด็น
เมื่อถามถึงกรณี ส.ส.เพื่อไทยโหวตไม่รับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งที่ญัตตินี้เสนอโดยเพื่อไทยเองแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของคนในพรรค นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคนที่แสดงความเห็นต่างมีไม่เท่าไหร่ ยืนยันว่าเพื่อไทยไม่ขัดแย้งกันเองอย่างแน่นอน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีส.ส.เพื่อไทยโหวตคว่ำญัตติตัวเอง ไม่รับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ทั้งที่ญัตตินี้เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ว่า ขอยืนยันที่ประชุมส.ส.เพื่อไทยในช่วงเช้าของวันที่ 24 ต.ค. ไม่ได้มีมติพรรคเพื่อไทยให้ส.ส.โหวตไปในทางหนึ่งทางใด ให้เป็นเรื่องเอกสิทธิ์ของส.ส.แต่ละคน ที่จะสามารถพิจารณาตัดสินใจในการโหวตได้เลย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แม้สภาจะโหวตไม่เห็นชอบข้อสังเกต แต่ตัวรายงานได้ถูกรับทราบโดยสภาไปแล้วตามกฎหมาย ถือว่าคณะกรรมาธิการทำหน้าที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว รายงานฉบับนี้อยู่ในสภา องค์กรหรือหน่วยงานใดเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็สามารถนำไปศึกษาได้ เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีมติในเรื่องนี้ ส.ส. จะโหวตเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียง จึงเป็นเอกสิทธิ์ ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันไม่ทำให้ความเห็นต่างนั้นนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม
"ขอให้ความมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน"
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบสมาชิกภาพของ นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีเหตุต้องสิ้นสุดลง ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบส.ส.อีก 4 ราย ตามที่ปรากฏในภาพข่าวว่ามีส่วนร่วมกับกรณีดังกล่าวด้วย หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้อง มีดังนี้ ข้อ 1. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ลงข่าวหัวข้อ รองประธานคณะกมธ. การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน มีข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย ไว้ดังนี้ วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกมธ. การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ กมธ.และที่ปรึกษา กมธ.และ สส.พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องข้อกังวลการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ปที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ได้มีคำสั่งครม.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ขณะนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้วมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ตนและส.ส.พรรคประชาชนมีข้อกังวลที่จะฝากถึงรองนายกรัฐมนตรี และรมว.สำนักนายกรัฐมนตรี ถึงคำสั่งดังกล่าวที่มีกรรมการบางรายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวโยงกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีการเบี่ยงเบนประเด็น หรือการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือข้อมูลที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริงได้
นอกจากนี้ได้ทราบข่าวว่าจะโอนเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยเหลือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พ้นผิดหรือไม่ จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม และในวันนี้ช่วงบ่ายพรรคประชาชนจะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่ เกี่ยวข้องอาทิ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 พ.ร.บ.การขายตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย
ข้อ 2. กรณีที่นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อม ส.ส.อีก 4 ราย ซึ่งปรากฏตามภาพข่าวนั้น การแถลงข่าวส่วนหนึ่งที่ระบุว่า ...จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม... นั้น อาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) ตามมาได้
ข้อ 3. รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) มาตรา 185 (1) (3) บัญญัติว่า มาตรา 101 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ (7) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 184 หรือมาตรา 185 มาตรา 185 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) การปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
(3) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่ง ของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ข้อ 4. เมื่อตรวจสอบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค จากเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุไว้ว่า คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่และอำนาจ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
ข้อ 5. ดังนั้นการแถลงข่าวในส่วนที่ว่า ...จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม... ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นั้น จึงอาจไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงไม่ควรมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่