พิจิตรชาวบ้านยังระทม เหตุ น้ำเหนือยังคงไหลบ่าเข้าแม่น้ำยมเอ่อล้นท่วมทุ่งและบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ 3 ตำบล 18 หมู่บ้าน 2 ฝากฝั่งของแม่น้ำยม 1,600 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมนานนับเดือนแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนติดเกาะ นายก ทต.โพธิ์ประทับช้าง เป็นห่วงสัปดาห์หน้าโรงเรียนจะเปิดเทอมเด็กนักเรียนจะไปโรงเรียนกันได้อย่างไร ล่าสุดคณะสงฆ์พิจิตรรวบรวมสิ่งของจากญาติโยมบรรจุเป็นถุงยังชีพออกแจกจ่าย บรรเทาความเดือดร้อนช่วยชาวบ้านตามภารกิจสาธารณสงเคราะห์ของพระสงฆ์
วันที่ 27 ตุลาคม 2567 พระราชสิทธิเวที,รศ. ดร. เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ รวมถึงญาติธรรม ได้ร่วมกันนำสิ่งของซึ่งเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ที่ได้มาจากการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่วัดท่าหลวง พระอารามหลวง รวมถึงเงินบริจาคและสิ่งของที่ได้มาจากกลุ่มศิลปินนักร้อง นักดนตรี ชาวพิจิตรที่จัดกิจกรรมเล่นดนตรีเปิดหมวกรับบริจาคเงินและสิ่งของที่บึงสีไฟ ซึ่งนำมารวบรวมบรรจุเป็นถุงยังชีพได้ 60 ถุง จึงนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านหมู่ 5 บ้านหนองไม้ซุง ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมด้านทิศตะวันตก ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวถูกน้ำท่วมมานานนับเดือนแล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีที่ท่าว่าน้ำจะลดลงเลย สาเหตุเป็นเพราะน้ำจาก จ.สุโขทัย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ไหลหลากลงสู่แม่น้ำยมจนเป็นเหตุให้พื้นที่ลุ่มน้ำยมของพิจิตรยังคงมีน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรและไร่นารวมถึงเส้นทางคมนาคมในหมู่บ้านต่างๆ ทำให้เดือดร้อนกันทั่วหน้าต้องใช้เรือพาย เรือหางยาวเป็นพาหนะเข้าออกหมู่บ้านได้อย่างเดียวเท่านั้น รวมถึงเด็กๆ ที่ช่วงปิดเทอมก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้คณะสงฆ์ก็ไม่ได้ลืมเด็กๆ หรือเยาวชน ก็ได้นำขนมและไอศครีมไปแจกให้กับเด็กๆได้กินอิ่มอร่อยกันด้วย สร้างความดีใจให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมติดเกาะดังกล่าว
โดย นายสมยศ เอมใจ นายกเทศบาลตำบลโพธิ์ประทับช้าง เปิดเผยว่าน้ำท่วมแบบนี้มานานนับเดือนแล้ว ต.วังจิก 10 หมู่บ้าน ต.โพธิ์ประทับช้าง 2 หมู่บ้าน ต.ไผ่ท่าโพ 6 หมู่บ้าน รวม 18 หมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำยมสองฝากฝั่ง 1,600 หลังคาเรือน โรงเรียน 2 แห่ง คือ ร.ร.ชุมชนวัดวังจิก , ร.ร.บ้านไผ่ท่าโพ น้ำท่วมสนามหญ้าหน้าเสาธงและชั้นล่างของโรงเรียนถนนภายในหมู่บ้านหลายเส้นทางถูกน้ำท่วมชาวบ้านต้องใช้เรือเป็นพาหนะเข้า-ออก มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนชาวเกาะมานานนับเดือนแล้ว ทำให้มีผลกระทบต่อการทำมาหากิน อีกทั้งน่าเป็นห่วงว่าสัปดาห์หน้าโรงเรียนก็จะเปิดเทอม เด็กๆจะเดินทางโรงเรียนด้วยวิธีการใด แต่ในเบื้องต้นก็ได้จัดเตรียมเรือหางยาวไว้ในแต่ละหมู่บ้านเพื่อบริการรับส่งเด็กนักเรียนในตอนเช้าและตอนเย็นแล้ว โดยหวังว่าเร็วๆนี้ ระดับน้ำจะลดลงเพราะเริ่มก้าววเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว