ผบ.ทบ. แถลงนโยบายผู้บังคับหน่วยระดับกรม น้อมนำหลักราชการ 10 ประการ ในหลวงรัชกาลที่ 6 และพระราชปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการปฏิบัติงาน 

วันนี้ (25 ต.ค.67) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ รองเลขานุการกองทัพบก / โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกวาระพิเศษ ครั้งที่ 1/2568 ที่กำหนดให้ผู้บังคับหน่วยระดับผู้บัญชาการมณฑลทหารบก และผู้บังคับการกรมหรือเทียบเท่าเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบนโยบายการปฏิบัติงานของผู้บัญชาการทหารบก 

โดยในที่ประชุม พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้น้อมนำหลักราชการ 10 ประการ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้แก่ ความสามารถ, ความเพียร, ความมีไหวพริบ, ความรู้เท่าถึงการ, ความซื่อตรงต่อหน้าที่, ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป, ความรู้จักนิสัยคน, ความรู้จักผ่อนผัน, ความมีหลักฐาน และความจงรักภักดี รวมถึงพระราชปณิธาน 5 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ผู้บังคับหน่วยได้รับทราบและยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน ตลอดจนขยายผลไปยังกำลังพลภายในหน่วย 

จากนั้นผู้บัญชาการทหารบกได้มอบเจตนารมณ์ต่อผู้บังคับหน่วยโดยมีนโยบายที่สำคัญ ประจำปี 2568 ที่ทุกหน่วยต้องยึดถือใน 5 ด้าน ประกอบด้วย

1. การพิทักษ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ : ให้ความสำคัญและความเร่งด่วนสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขในการปกครองระบอบประชาธิปโตย ทั้งภารกิจการถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติ, การสืบสานพระราชปณิธาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทานกองทัพบก และโครงการพระราชดำริ ตลอดจนการจัดกิจกรรมต่างๆ ในโอกาสมหามงคล เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล 

2. การนำกองทัพสู่ความทันสมัย : ให้ทุกส่วนร่วมพัฒนาและเสริมสร้างกำลังกองทัพในด้านต่างๆ ให้มีความพร้อมต่อการรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยต้องสามารถปฏิบัติงานร่วมกับเหล่าทัพอื่นและภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ ปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วย การบริหารจัดการกำลังพล รวมทั้งการดูแลปรนนิบัติสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้อง เพียงพอและอ่อนตัวต่อการปฏิบัติภารกิจในปัจจุบัน รวมทั้งให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการทางทหาร 

3. การฝึกให้พร้อมต่อทุกภัยคุกคาม : โดยทุกหน่วยต้องดำรงการฝึกในทุกระดับ รวมทั้งการฝึกภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกำลังพล ให้มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติงานได้จริง ใช้เครื่องมือและยุทโธปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม ตามแนวทาง “ฝึกอย่างที่จะรบ เมื่อรบต้องชนะ”  

4. พร้อมทุกยามเมื่อเกิดพิบัติภัย : ให้ทุกหน่วยต้องเตรียมกำลังให้มีความพร้อมอยู่เสมอ ทั้งกำลังพล สิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมถึงต้องมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง 

เพื่อสามารถรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในทันที ทั้งนี้ให้บูรณาการร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามนโยบายรัฐบาล ดังคำที่ว่า “ทหารเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส”

และ 5. การเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่กำลังพล : กำกับดูแล พัฒนาความเป็นอยู่และสวัสดิการของกำลังพลในทุกระดับ รวมถึงครอบครัวของกำลังพล ตลอดจนการจัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสาร รับฟังปัญหาและให้ข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อคลายความกังวลใจ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา 

นอกจากนี้ผู้บัญชาการทหารบกยังได้มอบนโยบายให้กับผู้บังคับหน่วยยึดถือการทำงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงกลาโหม โดยได้สั่งการเพิ่มเติมเรื่องการเตรียมกำลังและการใช้กำลัง ให้กองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบกเข้มงวดสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบตามแนวชายแดน อย่างเต็มที่ ในฐานะที่กองทัพบกเป็นกลไกหลักของรัฐบาล ในภารกิจปกป้องอธิปไตยและป้องกันชายแดน 

ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน ที่ทุกส่วนรวมถึงประชาชนให้ความสำคัญ

ในส่วนของเรื่องทหารกองประจำการ ผู้บัญชาการทหารบกได้ให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการคัดสรร โดยได้มอบหมายให้ผู้บังคับหน่วยประสานการทำงานร่วมกับสัสดี ในการประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ จนถึงการคัดเลือกบุคคล เพื่อให้ได้กำลังพลที่เหมาะสมและมีคุณภาพ รวมถึงสั่งการให้ผู้บังคับหน่วยทุกระดับชั้นกำกับดูแลการฝึกของทหารกองประจำการ 

ที่จะเข้ากองประจำการในวันที่ 1 พ.ย.นี้ อย่างใกล้ชิด ในการเสริมสร้างระเบียบวินัย ความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ตามมาตรฐานการฝึกของกองทัพบก ให้พิจารณาตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลและสภาวะแวดล้อมในการฝึก เพื่อลดการสูญเสียและอาการบาดเจ็บของทหารใหม่ 

สำหรับการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในห้วงก่อนหน้านี้ที่หลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาอุทกภัย ขอให้หน่วยถอดบทเรียนการปฏิบัติในห้วงที่ผ่านมา เพื่อนำมาปรับพัฒนาการทำงานในปัจจุบัน โดยทุกหน่วยจะต้องเตรียมกำลังให้มีความพร้อมต่อการปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตในทันที ซึ่งในส่วน

ของกองทัพบก ได้ดำเนินการผ่านศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทานกองทัพบก และศูนย์อำนวยการจิตอาสาภาค ร่วมกับจิตอาสาจังหวัด บูรณาการการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ ตามแนวทางของจิตอาสาพระราชทานในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน