เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 25 ต.ค.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีสภาฯ ไม่รับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า รายงานดังกล่าวถือว่าได้รายงานต่อสภาฯเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมาธิการถือว่าทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วรายงานฉบับนี้อยู่ในสภาฯ องค์กรใดเห็นว่าเป็นประโยชน์สามารถไปศึกษาได้
เมื่อถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับ สส. พรรคเพื่อไทยที่ขัดมติพรรคไม่เห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค. ส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องรับรายงานและข้อสังเกต แต่มีบางคนไม่สบายใจ ที่ประชุมจึงขอสงวนไว้ ตนก็บอกว่าแล้วแต่ ให้การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ เราก็ไม่ว่าอะไร ยืนยันว่าในที่ประชุมสส. พรรคเพื่อไทย ไม่มีมติพรรคในเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของเอกสิทธิ์
เมื่อถามว่า ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ รู้สึกเสียหน้าหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คงพูดอย่างนั้นไม่ได้ ตนบอกในที่ประชุมว่าญัตตินี้เป็นของพรรคเพื่อไทย ตนเป็นประธานทำรายงานเอง ถ้าจะให้ตนไม่รับมันก็ไม่ได้ ทั้งนี้ยังดีใจ คณะกรรมาธิการที่ร่วมทำกันมาผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนก็รับรายงาน
เมื่อถามอีกว่า การโหวตของพรรคเพื่อไทยไม่รับข้อสังเกต จำนวนมากจะเสียมวลชนหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าส่วนหนึ่ง เราไม่ได้ปฏิเสธรายงาน บางส่วนไม่รับรายงานเลย เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ก็รับรายงาน เพียงแต่ไม่รับข้อสังเกต การไม่รับข้อสังเกตก็หมายความว่า ไม่ส่งไปให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแค่นั้นเอง
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หลายคนไปฟังกระแสคล้ายๆไปตีความกับว่าคนที่เห็นชอบกับข้อสังเกต คือคนที่จะแก้หรือคนที่จะนิรโทษก็ปล่อยกันไปทำนองนี้จึงรู้สึกวิตกกังวล ยืนยันว่ามันไม่ใช่ เป็นแต่เรียงรายงานการศึกษาไม่เกี่ยวกับแก้โน้นแก้นี่ แต่เนื่องจากกระแสออกไปทำนองนั้น
เมื่อถามว่า ถือเป็นการปิดประตูเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะขณะนี้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่าง เป็นของพรรคการเมือง 3 พรรค ของภาคประชาชน 1 ร่าง จ่อเข้าสู่การประชุมสภาฯในสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดวันที่ 12 ธ.ค. คงต้องไปถกเถียงกันว่าสุดท้ายจะเอาอย่างไร เปิดสมัยประชุมสภาฯ สื่อคงได้ทำข่าวกันอีกมากพอสมควร อันนี้แหละคือร่างจริงๆแล้ว
เมื่อถามว่า จากนี้จะเข็ดขยาดกับการเป็นหัวหอกดันเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า “ผมไม่ได้เข็ดอะไร ไม่ได้รู้สึกเสียใจอะไร เป็นเรื่องธรรมดาที่เราทำหน้าที่ แต่เมื่อเขาเห็นแบบนี้ก็ว่ากันไป”
เมื่อถามว่า ต่อไปหากจะพูดเรื่องนิรโทษกรรม ต้องวางกรอบให้ชัดเจนไม่ให้แตะมาตรา 112 หรือไม่ เพื่อไม่ให้ถูกคว่ำอีก นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มันหนีไม่พ้น ต้องพูดถึงเรื่องพวกนี้เพราะ 4 ร่างกฎหมายที่จะเข้าสภาฯ ถามว่ามีเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องไปไตร่ตรองกันและตนเชื่อว่ารายงานที่ทำไปครั้งนี้จะเป็นประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 4 ร่างประกอบด้วย ของพรรคการเมือง 3 พรรคคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกลเดิม พรรคครูไทย และร่างของภาคประชาชน