เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 67 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 4 เรื่อง พายุ “จ่ามี” ระบุว่าา...
เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 800 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำประเทศจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 118.1 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 92 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก อย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 26–28 ต.ค. 67 โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้าหาศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กับมีลมแรงในช่วงวันดังกล่าว
หลังจากนั้นพายุจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 26–29 ต.ค. 67 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้
วันที่ 26 ตุลาคม 2567
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา
ภาคใต้:จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 27 ตุลาคม 2567
ภาคเหนือ:จังหวัดอุตรดิษถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดนครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง:จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก:จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้:จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 28–29 ตุลาคม 2567
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคตะวันออก:จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้:จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.