ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
หลายคนเกิดมาเลือกอนาคตไม่ได้ แต่บางคนก็มีทางเลือกมากมาย อยู่ที่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกเท่านั้น
คนไทยจำนวนมากยังเชื่อว่าอาชีพการเป็นข้าราชการเป็นอาชีพที่มั่นคง จนถึงขั้นเชื่อว่าเป็นอาชีพที่ดีที่สุด โดยเฉพาะคนที่ “บ้า” ในยศตำแหน่งและอำนาจวาสนา แต่สุปรียาไม่ได้คิดแบบนั้น เธออาจจะเป็นหนึ่งในคนไทยจำนวนน้อยที่มองว่า ข้าราชการก็คือ “คนทำงาน” ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ เหมือนอย่างคนที่ทำงานเอกชนหรือบริษัทห้างร้านและโรงงาน ที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถต่าง ๆ มาทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จ การเป็นข้าราชการไม่ใช่การเป็นเจ้าคนนายคน แต่เป็นเพียง “กลไกของรัฐ” ที่ต้องทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ตัวประชาชนขึ้นไปจนถึงรัฐบาล เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปและเจริญก้าวหน้า
สุปรียาเน้นคำว่า “กลไกของรัฐ” เธอบอกว่าเธอชอบคำ ๆ นี้ ตั้งแต่ที่ได้มาเรียนวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทย ในตอนที่เธอมาเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ ผมไม่ได้ดูแลการสัมมนาในวิชานี้ แต่อาจารย์ที่ดูแลได้พูดคำนี้ขึ้นมา แล้วอธิบายว่าการบริหารประเทศก็เหมือนการทำงานของ “เครื่องจักร” เครื่องจักรนี้ประกอบด้วย “ชิ้นส่วนกลไก” มากมาย ทุกชิ้นต้องทำงานประสานกัน โดยในระบบราชการ “ประชาชน” คือชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นตั้งแต่เจ้าของอำนาจ เป็นผู้เลือกหรือจัดทำกลไกเข้ามาดูแลการบริหารประเทศ ที่เรียกว่า “รัฐบาล” และ “รัฐสภา” ทั้งนี้ประชาชนเองก็ต้องคอยควบคุมตรวจสอบ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองนี้อยู่ตลอดเวลา เช่น การติดตามข่าวสารบ้านเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นต้น สุดท้ายก็คือการทำให้กลไกเหล่านี้ทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการเลือกตั้งเป็นระยะ ๆ และการปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น
สุปรียาเกิดและเติบโตมาในอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ทางบ้านมีฐานะดีพอสมควร คือเป็นเจ้าของรีสอร์ตใกล้อุทยานแห่งชาติภูเรือ ร่วมกับเป็นเจ้าของไร่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อส่งขายในเทศกาลต่าง ๆ กว่าร้อยไร่ เธอเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมในตัวจังหวัดเลย และมาจบชั้นมัธยมปลายในตัวจังหวัดขอนแก่น แล้วมาจบปริญญาด้านการบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ระหว่างนั้นก็สมัครเข้าเรียนในสาขาวิชารัฐศาสตร์ในระบบทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพร้อมกันไปด้วย แต่ยังไม่จบก็ต้องกลับมาช่วยพ่อแม่บริหารรีสอร์ต ซึ่งเธอก็ได้เพิ่มเติมธุรกิจต่อเนื่องไปอีกมาก ตั้งแต่การทำวิสาหกิจชุมชนไปจนถึงการค้าขายกับต่างประเทศ คือการจัดตั้งกลุ่มผลิตสินค้าชุมชนที่เป็นผลผลิตจำพวกสมุนไพรและเครื่องสำอางจากพืชไร่ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศ ทำให้มีลูกค้าที่แรก ๆ เป็นคนไทยที่เข้ามาท่องเที่ยว สนใจสั่งซื้อไปใช้เอง แล้วก็มีเพื่อนชาวต่างประเทศมารู้เข้าก็สั่งไปใช้บ้าง ทำให้ธุรกิจติดตลาดและเกิดบริษัทส่งออกรับช่วงต่อไป เมื่อธุรกิจไปได้ด้วยดีแล้ว เธอก็อยากทำงานอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทาย ตอนแรกมีคนชวนเธอให้ไปเล่นการเมืองท้องถิ่น แต่เธอมองว่าคนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นจะต้องเป็นคนที่มีอิทธิพลมาก ๆ แต่ในช่วงที่เธอกำลังสองจิตสองใจ เธอก็เรียนจบสาขาวิชารัฐศาสตร์และกรมการปกครองเปิดรับข้าราชการตำแหน่งปลัดอำเภอพอดี ตอนนั้นเธอก็เพิ่งอายุย่างเข้าเบญจเพส เลยไปลองสอบดู ปรากฏว่าสอบได้ โดยภายหลังที่ผ่านการอบรมแล้วก็ได้บรรจุเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และเธอได้ทราบต่อมาว่าถ้าจะเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งราชการ อย่างน้อยต้องเรียนจบปริญญาโท เพราะมีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้บริหารของส่วนราชการในระดับสูงต้องจบการศึกษาในระดับนี้ เธอจึงมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดิม และเรียนในระบบทางไกลแบบเดิม จนกระทั่งรับปริญญาในปี 3 ปีต่อมา
พอเรียนจบปริญญาโท เธอก็ย้ายไปเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอด่านซ้าย ทำให้ใกล้บ้านของเธอเข้ามาอีกนิด การย้ายมาที่อำเภอชายแดนติดกับประเทศลาวนี้ ก็ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ตามคำแนะนำของเจ้านายคือท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าถ้าอยากจะ “โตเร็ว ๆ” ต้องพยายามหาทางให้ได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเขตพิเศษ อย่างเช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออำเภอชายแดนต่าง ๆ (ถ้าสมัยก่อนก็คือพื้นที่ที่มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั้นด้วย) เพราะข้าราชการที่นั่นจะได้ “2 ขั้น” ทุกปี ร่วมกับค่าตอบแทนพิเศษมากกว่าข้าราชการในจังหวัดอื่น ๆ การได้ 2 ขั้นนี้จะทำให้เราเติบโตไปเร็วกว่าคนอื่น เพราะข้าราชการเขาวัดอาวุโสกันด้วยขั้นเงินเดือน โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดของเธอบอกว่า “ดูอธิบดีกรมต่าง ๆ สิ พวกนี้กินขั้นพิเศษมาตั้งแต่เข้ารับราชการใหม่ ๆ ทั้งนั้น” ยิ่งไปกว่านั้นขั้นพิเศษนี้ยังมีผลต่อการคิดเงินบำนาญ ที่ทำให้ข้าราชการในพื้นที่พิเศษทั้งหลายเมื่อเกษียณแล้วจะมีเงินบำนาญมากกว่าข้าราชการคนอื่น ๆ เป็นจำนวนที่มากพอดู ส่วนการแสวงหาความก้าวหน้าในทางราชการอีกวิธีหนึ่งก็คือ “หานายดี ๆ” แปลว่าจะต้องได้ไปทำงานกับเจ้านายที่เป็น “ดาวรุ่ง” ตั้งแต่ระดับรองอธิบดีหรืออธิบดี เพราะคนเหล่านี้สามารถให้ “2 ขั้น” กับเราได้ทุกปีเช่นกัน รวมถึงที่จะหาช่องทางที่จะเข้าไปมีตำแหน่งดี ๆ หรือพื้นที่ดี ๆ ได้ง่ายกว่าใคร ๆ แต่การที่จะได้เข้าไปใกล้ชิดเจ้านายดี ๆ เหล่านี้ก็ต้องมีเส้นมีสาย อย่างถ้าในระบบมหาดไทยก็คือ “สี” ตามสถาบันที่จบการศึกษามา อย่างที่มีชื่อเรียกว่า “สิงห์ดำ - สิงห์แดง - สิงห์ขาว - สิงห์ทอง” เป็นต้น
สุปรียาเป็นปลัดอำเภออยู่ที่ด่านซ้ายได้ 3 ปี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดของเธอก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิบดี และได้ขอยืมตัวเธอมา “ช่วยราชการ” (คือยังมีตำแหน่งงานเป็นปลัดอำเภออยู่ แต่ต้องมาทำงานกรมอื่น แต่ก็ยังสังกัดในกระทรวงมหาดไทย) ทำงานเป็นหน้าห้องที่กระทรวงด้วย เพราะทราบว่าเธอมีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศเป็นพิเศษ จากการที่เธอมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษที่ดี รวมทั้งที่เคยทำธุรกิจกับต่างประเทศ ซึ่งก็พอดีกับกรมที่เธอไปอยู่มีโครงการที่ต้องทำกับต่างประเทศหลายโครงการ ทำให้เธอสนุกกับงานที่นี่มาก เพราะได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และพอเจ้านายของเธอขึ้นเป็นอธิบดี จนไปเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง รวมเวลากว่า 6 ปี เธอก็ติดตามเป็นหน้าห้องไปโดยตลอด ซึ่งเจ้านายของเธอก็ได้ “ฝากฝัง” กับ “เจ้านายรุ่นน้อง” ให้เธอทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานบริหาร ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนก็คือ “ชั้นพิเศษ” ที่สำหรับเธอก็ถือว่าไปเร็วมาก เพราะตั้งแต่ที่รับราชการมาเพียง 14 ปีก็ขึ้นเป็นชั้นพิเศษนี้แล้ว ในขณะที่ข้าราชการทั่วไปต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี
งานใหม่ของเธอสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง เป็นงานที่ดูจะสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องทำงานร่วมกับนักการเมือง ท่านปลัดกระทรวงซึ่งเป็นรุ่นน้องของเจ้านายเก่าของเธอ แนะนำว่าเธอจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ท่านรัฐมนตรีท่านเป็นคนที่มีอำนาจมากในรัฐบาล เป็นคนที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังเกรงใจ และที่สำคัญเธอจะได้เรียนรู้ “อะไรใหม่ ๆ” ที่จะพาเธอก้าวหน้าไปในตำแหน่งที่สูงสุดในทางราชการนี้
ในตอนนั้นสุปรียาวาดภาพไม่ออกว่า “อะไรใหม่ ๆ” นั้นคืออะไร และยิ่งได้เข้าไปสัมผัสกับนักการเมืองพวกนี้ก็รู้ว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากนักการเมืองพวกนี้ไม่มีอะไรใหม่เลย ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เธอได้เคยเรียนมาจากห้องเรียนแล้วทั้งสิ้น รวมถึงที่เธอได้มีประสบการณ์สัมผัสกับนักการเมืองพวกนี้มาตั้งแต่ในท้องถิ่นของเธอ ก็เห็นว่ามีแต่ “ความเก่า” คือไม่ได้มีอะไรพัฒนาไปเลย ซึ่งเธอได้นำสิ่งนี้มาเล่าให้ผมและนักศึกษาปริญญาโทรุ่นน้องฟัง ในหัวข้อการสัมมนาการเมืองการปกครองไทย ในอีก 20 ปีต่อมา หลังจากที่เธอได้ลาออกจากราชการ ภายหลังจากที่ “ทนไม่ได้” กับพฤติกรรมของนักการเมืองร่วมกับข้าราชการบางคน “ปู้ยี่ปู้ยำ” การเมืองการปกครองของประเทศไทย ซึ่งเธอไม่ยอมแล้วที่จะตกเป็น “เครื่องมือ” ของคนพวกนี้
โลกพัฒนาไปมากแล้ว แต่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน ก็ด้วย “คนเลว ๆ “ พวกนี้