ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ความเจ็บปวดและขมขื่นเกิดขึ้นกับหัวใจแห่งการคิดคำนึงของผมเสมอ..เมื่อเรื่องราวแห่งโลกียจริตของบ้านเกิดเมืองนอนอันน่าอับอายและชวนขยะแขยง...ได้ถูกเปิดเปลือยขึ้น..ไม่ว่าจะด้วยเจตนาที่ดีหรือร้ายก็ตาม

บน “ถนนโลกีย์” สายนั้น..มีเรื่องเล่ามากมายเบิกประจานประวัติศาสตร์แห่งชีวิตของเราอยู่...ท่ามกลางรอยอำพรางแห่งมายาคติและวัฒนธรรมที่เป็นยิ่งกว่าภาพวาดอันมืดดำแห่ง ราคจริตที่ไม่เคยตายไปจากใจ..

ชีวิตของผม..เหยียบยืนอยู่บนถนนสายนี้..เมื่อมันเปลี่ยนสภาพมาเป็นถนนสายธุรกิจเคียงคู่ไปกับการเป็นถนนสายหลักทางวัฒนธรรมที่ขึ้นหน้าขึ้นตาและมีชื่อเสียง...วัดวาอาราม..สถานที่พัก โรงมหสพ สถานบันเทิง เคยคลาคล่ำอยู่บนสายนี้..ดั่งสายทางศักดิ์สิทธิ์แห่งยุคสมัย...แต่ในอดีต..

ในอดีต..ถนนสายนี้เปรียบดั่งดวงตะวันแห่งกามโลกีย์ของชาวต่างชาติผู้มั่งคั่งร่ำรวยทั้งในอำนาจและเงินตรา..พวกเขาสร้างนิวาสสถานแห่งโลกียสุข เป็น “ฮาเร็ม” แห่งการปรนเปรอ “ราคจริต” ..ที่คนพื้นถิ่นต้องสยบยอม และดูเหมือนจะเต็มใจที่จะเปลือยใจและกายเพื่อสนองตัณหาคนหื่นกระหายเหล่านั้น..จนพวกเขาหลงจริต..ถึงแก่การ “ลุแก่อำนาจ” ครอบครองพื้นที่ชีวิตของคนพื้นถิ่นจนเกือบจะหมดสิ้น..

เป็นบาปที่เปื้อนใจ..เป็นอำนาจโสมมที่เปื้อนกาย..กระทั่งล่วงเลยมาถึงลมหายใจแห่งจิตวิญญาณของคนพื้นถิ่น

ณ ขณะนี้..ที่มิอาจลืมเลือนและลบเลือนไปจากหัวใจอันสั่นไหว..ของความเป็นชีวิตได้..

นี่คือแรงกระทบใจต่อมโนทัศน์อันสุกว่างและลึกเร้นจากนวนิยายที่..สื่อแสดงถึงแสงสว่างทางปัญญา..ที่สื่อความ และ ถอดความประวัติศาสตร์ล้านนา..ออกมาเป็นฉากแสดงแห่งนวนิยายที่เปิดเปลือยต่อราคจริตในห้วงขณะของชีวิต..ขณะที่อำนาจแห่งตัวตน..กลายเป็นเงาร่างของเจตจำนงอันอัปยศ..

“ล้านนา ฮาเร็ม” (LANNA HARLEM)โดย “สาคร พูลสุข”..วรรณกรรมที่ถอดความตัณหากิเลส แห่งความเป็นมนุษย์...ให้กลืนกลายไปกับสภาวะอัปลักษณ์ เหนือ..ความขยะแขยงอันยากจะจำกัดความ..!

“ทันทีที่นายแพทย์..มาเรียน อลองโซ ชีค..รักษาคนไข้คนสุดท้ายของวัน..เสร็จสิ้นลง เขารีบตรงดิ่งกลับบ้านพัก โดยไม่สนใจเสียงร้องทักจากบรรดาคนรู้จัก..เขาจ่ายค่ารถลาก แล้วรีบสาวเท้าเข้าบ้านพัก เขาถอดเสื้อออกก่อนจะทันเข้าประตูเสียด้วยซ้ำ..

หมอชีค..ไม่พูดอะไรออกมา..เขาอัดอั้นมาแล้วทั้งวัน...ใครจะว่าเขาตกเป็นทาสกามารมณ์ก็ช่างเถิด...แต่นี่คือเวลาที่เขาจะหาความสุขจากเรือนร่างของภรรยา..เขาไม่มองหน้าเธอ ขณะที่ปฏิบัติกามกิจ ทุกท่วงท่ามุ่งสู่เป้าหมายเดีย วคือความสุขทางเนื้อหนัง

เขาคิดว่า..การแสดงออกทางอารมณ์บนเตียงนอนเป็นเรื่องไม่จำเป็น น่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ ถ้าหากมันถูกแสดงออกมาอย่างเสแสร้ง..

“คุณจะไม่พูดอะไรก่อนหรือ..? คุณจะไม่พูดอะไรก่อนหรือ?.. “...........!!!”

“สาคร”...เปิดเรื่องเล่าของเขาด้วยฉากแสดงที่ขื่นขันและขื่นขมทางความรู้สึก...มันคือการเหยียดหยามระหว่างเพศ ที่โหมกระหน่ำเข้าสู่มโนทัศน์แห่งการรับรู้อย่างไร้ยางอาย  และนั่นคือจริตอำนาจ..ในสถานะชีวิตในโลกที่ “ชายเป็นใหญ่”

ที่โยงใยสู่ปรารถนาอันโสมม..ที่ “หมอชีค” ได้ถือครองไปจนชั่วชีวิต..

จากจุดกำเนิดแห่งความย่ามใจตรงส่วนนี้..ทำให้หลุมบ่อแห่งความเป็นชีวิตของ “หมอชีค” คลาคล่ำไปด้วยผู้หญิง..ที่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจของเขา..ทั้งด้วยอำนาจนิยมแห่งสถานะ..ตลอดจนอำนาจเงินตราที่หว่านโปรยออกไปอย่างไร้ความเสียดาย..

เขาละจากอาชีพการเป็นหมอตั้งแต่อายุ 23..และหันมาสร้างผลประโยชน์ทางทรัพย์สินกับการค้าไม้..จนร่ำรวยล้นฟ้า..คล้ายดั่ง “ฝรั่ง” คนต่างชาติอื่นๆที่แปรสภาพจากความเป็นนักบุญ กลายเป็นคนบาป..ตักตวงความร่ำรวยในทุกสิ่งทุกอย่างไปจาก “คนเมืองพื้นถิ่น” ไปอย่างไร้ศักดิ์ศรีและยางอาย..

ความเป็นบ้านเมืองดูเหมือนจะเรืองรุ่งด้วยอำนาจเงินแห่งคน “หัวเหลือง..หัวแดง” เหล่านี้..แต่เกียรติภูมิของผู้คนพื้นถิ่น..กลับดูเหมือนได้สิ้นศักดิ์ศรี..อันศักดิ์สิทธิ์ไปนับแต่นั้น..!

ตามประวัติ ..หมอชีค “ดร. มาเรียน อลองโซ ชีค (Marian Alonzo Cheek)” คือบุคคลที่ “ดร.แมคกินวารี” มิชชันนารีประจำภาคเหนือของไทย ได้ติดต่อเชิญให้เข้ามาทำงานด้วย เมื่อปีพ.ศ.2418..ต่อมาได้แต่งงานกับ “ซาราห์ บรัดเลย์” ลูกสาวของหมอ “บรัดเลย์” ผู้นำการแพทย์มาสู่ประเทศไทย.. เหตุนี้เขาจึงมีศักดิ์เป็นน้องเขยของดร.แมคกินวารี

..เขาเป็นหมอที่มีความสามารถ รู้ภาษา และมีฝีมือ จึงเป็นที่นิยมของชาวเมืองเชียงใหม่   ..แต่เขาก็มีจุดอ่อนตรงที่เป็นคนหัวแข็ง ไม่ยกย่องใคร และไม่ยอมใคร จึงไม่ถูกกับพี่เขยในที่สุด..!   

 เมื่อเขาตัดสินใจเลิกจากการเป็นหมอ.ในปี 2428 เขาก็มีโอกาสเข้าสู่ชีวิตของกิจการค้าไม้ ณ บริษัทบอเนียว..ซึ่งหยิบยื่นงานแห่งชีวิตให้แก่เขา..จากงานทดลองกระทั่งเป็นงานอาชีพประจำที่สร้างค่าความหมายแห่งชีวิตให้แก่เขาอย่างถาวรและเป็นความทรงจำ..

“ดี งาม จริง ลวง” อย่างไรนั้น..นั่นคือบทบาทชีวิตที่คนอื่นต้องตัดสิน .. “ศักยภาพอันเลิศเลอในการทำงาน กับ ภาวะเสวยสุขอย่างตะกรุมตะกราม” ที่ติดตรึงอยู่กับชีวิตของเขา...อาจไม่มีพระเจ้าเป็นผู้ค้ำยันจิตใจและเป็นผู้เตือนสติ..ทั้งๆที่พวกเขาเป็นตัวเเทนคนสำคัญในทางศาสนา..แต่คนเหล่านี้ที่ขยายตัวตนไปเกือบทั้งโลกก็หนีไม่พ้นพลังแห่งความโลภโมโทสัน..และติดอยู่กับบ่วงของเกมของกามโลกีย์อย่างย่ามใจจนถอนตัวไม่ขึ้น..

แม้เขาจะเป็นผู้สร้างอะไรต่อมิอะไรให้แก่เมืองเชียงใหม่มากมาย โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกในตัวเมืองเชียงใหม่.. แต่สิ่งที่ฝังจำอย่างถึงที่สุดของโลกียสุขอันเป็นส่วนตัวที่อยู่เหนือความผิดบาปใดๆก็คือ “ฉากทัศน์หลังวัด มหาวัน..เชียงใหม่” วัดเจดีย์ขาว  ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า..สวรรค์แห่งกามโลกีย์แห่งนั้น..

“หมอชีค” เป็นเพื่อนกับ “นายหลุยส์” ลูกของแหม่ม “แอนนา” ครูผู้สอนวิชาการแก่รัชกาลที่ 5

...พวกเขาทั้งสองทำกิจการ ระหว่างกัน..เป็นพ่อค้าสินค้าพื้นถิ่น...และเป็นผู้สูบเลือดเนื้อและชีวิตของ “คนเมือง” ในคราบของ “นักบุญ” เหมือนๆกัน สำหรับชนชั้นปกครอง...ในฐานะ “เจ้าเมืองเหนือ” พวกเขาอาจเสวยสุขร่วมกันกับคนต่างถิ่นด้วยผลประโยชน์ที่เหยียบย่ำอยู่บนเลือดเนื้อแห่งชีวิตของเหล่าข้าทาส..และคนสามัญ..ยิ่งเฉพาะผู้หญิง..พวกเธอเหมือนตกอยู่ในมายาคติที่เปล่ากลวงและโหดร้ายของกามโลกีย์ที่ถูกซื้อขายอย่างสินค้าแบกับดิน..พวกเธอเหลือบประวัติแห่งความทรงจำเพียงเท่านี้..ก่อนที่ทุกอย่างจะผันแปรไปตามกาลสมัย..

“กำแพงดิน” ที่เคยเป็นเครื่องหมายแบ่งกั้นชนชั้น “ส่วนหนึ่งกลายเป็นพื้นที่แห่งการขายชีวิตของผู้หญิงและผู้หญิงไปอย่างน่าเวทนา” เป็นการเบิกประจานประวัติศาสตร์ที่เหมือนจะถูกลืมของเมืองเชียงใหม่ไป ..ในมืดหม่น “หมอชีค” เสียชีวิตไปเมื่อปี 2450 อายุได้เพียง 43 ปี../บรรดาผู้หญิงที่เป็นนางบำเรอของเขาถูกผ่องถ่ายมาเป็นสมบัติแห่งกามโลกีย์ของ “นายหลุยส์”

..มิ่งมิตรที่ผู้มีใจเป็น “ศัตรูคู่แข่ง” อยู่เสมอมา..!

เชียงใหม่..ตกอยู่ในสภาพที่ถูกครอบงำโดยตลอด..มีแต่ผู้วางแผนแสวงหาผลประโยชน์..มันคือดินแดนที่เป็นเหยื่ออันโอชะ..ของเหล่านักบุญที่เสกมนต์ใส่..ด้วยจริตแห่งดีและชั่วระคนกัน..จนยากจะแยกแยะ..

“ทำไมผมจะต้องอธิบายด้วย..ในเมื่อเมืองนี้อธิบายทุกอย่างด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว..คุณไม่เห็นหรือว่าถนนทุกสายเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง และผลประโยชน์จากการค้า..พวกคนจีน อินเดีย พม่า หรือแม้แต่คนเชียงใหม่เอง แล้วพวกเราล่ะทำอะไรอยู่..ลืมไปแล้วหรือว่า พวกเรานั้นเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมทางการค้า..อย่าทำเหนียมอยู่เลย แม้แต่ทาสเราก็ค้าขายกัน..ถึงแม้จะแอบทำลับหลังพระเจ้าก็ตามที”

นี่คือความเป็นที่สุดของเจตนาแห่งการย่ำยีที่ “สาคร” หาญกล้า สะท้อนนัยความจริงออกมาอย่างเจ็บปวด..ตลอดชีวิตในเบื้องต้น..ผมอยู่บนพื้นที่ชีวิต..ที่พวกฝรั่งขีดวงไว้ให้..เรียนที่โรงเรียนของพวกเขา..อาศัยอยู่บนแผ่นดินที่ต้องซื้อหามาจากพวกเขา..กระทั่งนับถือศาสนามาจาก..เจตจำนงของพวกเขา..

แต่นั่นเป็นอุบัติการณ์แห่งพื้นที่ชีวิตในเวลาต่อมา.. “ประวัติศาสตร์อาจไม่ใช่ลักษณะของปัจจุบัน”..มันขึ้นอยู่ได้ทั้งกับจิตใจ และ ชะตากรรมของยุคสมัย..ผมเติบโตมาในยุคแห่งความเกื้อกูลอันเรืองรุ่ง ทั้งด้านการศึกษา การอยู่อาศัย ตลอดจนการทำงานแห่งชีวิต..

..การถูกสอนให้เป็นคนดี..โดยไม่ต้องไปรื้อฟื้นถึงร่องรอยอัปลักษณ์แห่งอดีต..

ผมเติบโตขึ้นมา..ด้วยความรู้จากแดนไกล..และจะไม่รู้เลยถึงความหมายอันแท้จริงแห่งพื้นที่ชีวิตของแผ่นดินถิ่นเกิด..ที่ถูกปิดช่องทางแห่งการเรียนรู้ให้ตกอยู่กับทางแคบของอดีต..ที่เหมือนจะไม่มีทางฟื้นกลับมาได้..

แต่ “สาคร พูลสุข” กลับมีใจอุตสาหะ ที่ได้ค้นคว้าและรื้อฟื้นประวัติศาสตร์อันมืดมนและถูกกดทับมาช้านานนี้..ให้เป็นดั่งสนามประลองทางปัญญา..อันทายท้า..

“ล้านนา ฮาเร็ม” มิได้เป็นเพียงหนังสืออ่านเล่นในคราบร่างของนวนิยายที่ไร้ค่า..แต่มันคือบทบันทึก..ที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งความจริงทางความรู้สึกที่ฉูดฉาดบาดใจ..และดำดิ่งล้ำลึกสู่มหรรณพของการถูกกระทำ..!

“สาคร”..ถ่ายทอดหัวใจแห่งวรรณกรรมเรื่องนี้อย่างกระชับ..และ เต็มไปด้วยภาพลักษณ์แห่งเจตจำนงที่เลือกสรรเพื่อการรับรู้..อย่างเข้าใจในสุดห้วงของความรู้สึก..งานเขียนของเขา..กอปรด้วย ความ คิด จิตใจ และ อารมณ์ ที่ก่อไฟปะทุต่อการหวนคืนไปแสวงหา และ สืบค้นต่อรากเหง้าของตนเอง..

จากภาพลักษณ์ในใจ(Mental Imagery ) สู่ปรากฏการณ์แห่งการรับรู้ภายนอก..ทั้งหมดล้วนคือความจัดเจนและพิถีพิถันในการจัดวางองค์ประกอบของเรื่ิองเล่า.รวมทั้ง..ภาษาเขียนของนวนิยายเรื่องนี้..ให้กลายเป็นภาษาภาพอันเปี่ยมเต็มไปด้วยสุนทรียรส..ที่ฝังจำไม่รู้เลือน..

*..ผมนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ถูกระบุว่า..เป็นหนังที่เมื่อได้ดูแล้ว..เราจักไม่อยากดูหนังเรื่องอื่นอีกต่อไป..เพราะมันตอกย้ำถึงความจริงที่อยู่เหนือความจริงไว้อย่างหมดสิ้นแล้ว..

“The Mission” โดย “โรแลนด์ จอฟเฟ่” คือ หนังเรื่องนั้น..และ..นวนิยาย “ล้านนา ฮาเร็ม” ของ “สาคร พูลสุข” เรื่องนั้น..ก็ “งดงามในมืดดำ” เช่นนั้น.เฉกเช่นกัน..!

“เย็นมากแล้ว..น้ำทะเลสีครามค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีมรกต..อีกไม่นานก็จะค่อยๆเข้มขึ้น กลายเป็นสีเดียวกันกับท้องฟ้า..ลมทะเลเริ่มพัดแรง ยอดคลื่นสีขาวกระทบโขดหินเป็นฟองฝอย นกทะเลบินลับหายไปหลังเกาะ..พวกมันคงมีรวงรังอบอุ่นอยู่ที่ไหนสักแห่ง..

“เขา”..หวนคิดถึงตัวเอง..ถ้าเขาเป็นนก ตอนนี้เขาพร้อมแล้ว ที่จะบินฝ่าฟองฝอยเข้าไปในโขดหิน ถึงแม้จะมีกำแพงหนาวเหน็บรออยู่ก็ตาม..

...คลื่นทะเลลูกหนึ่งหมุนเข้าใต้ท้องเรือ..คล้ายแรงหนุนแห่งโชคชะตา.. “หมอชีค” ราวกับได้เหยียดหยัดร่างจริงของตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย..ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ม่านมัวสีเทา..เหมือนนกเถื่อน ..บินเข้าหาโขดหิน..!