วันที่ 24 ต.ค.67 ที่อบต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นายทศพล บวรโมทย์ นายอำเภอบ้านค่าย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการโรงงานผลิตลวดเหล็กเคลือบสังกะสี (ครั้งที่ 2) ของบริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด โดยมี นายปราโมทย์ ฉันทมิตร์ นายก อบต.หนองละลอก นายอดุลย์ นิยมสมาน ส.อบจ.ระยอง เขต 2 นายจุมพล คาวีวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการการผลิต บริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด นายสนิท พุทธสังฆ์ ประธานคณะกรรมการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมไตรภาคีบริษัทสยามลวดเหล็กอุตสาหกรรม จำกัด หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และปปช.ในพื้นที่เข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง
นายจุมพล คาวีวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการการผลิต บริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด กล่าวว่าตามที่โครงการโรงงานผลิตลวดเหล็กเคลื่อบสังกะสี ของบริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด ในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ได้รับความเห็นชอบในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากสำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554 และเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปีพ.ศ. 2556 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงความต้องการในกลุ่มอุตสาหกรรมลวดเหล็กเคลือบสังกะสี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อพัฒนาระบบการผลิตและเสริมการผลิตของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมลวดเหล็กเคลือบสังกะสี จึงมีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในครั้งนี้โดยมีประเด็นการเปลี่ยนแปลง 4 ประเด็น ดังนี้1. การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเคมีของโครงการ และการปรับปรุงบ่อพักน้ำทิ้ง ขนาด 300 ลบ.ม. เป็นบ่อพักน้ำทิ้งขนาด 145 ลบ.ม. และบ่อพักน้ำทิ้งฉุกเฉิน ขนาด 145 ลบ.ม. 2.การปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนและแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ 3.การเปลี่ยนแปลงปริมาณผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเภท โดยกำลังการผลิตรวมไม่เปลี่ยนแปลง 4. การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบและสารเคมีในกระบวนการผลิต
จึงได้จัดทำโครงการนี้เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะต่อผลการศึกษาและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เพื่อโครงการจะได้นำไปปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป