กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าจัดกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่ว 5 ภูมิภาค ประจำปี 2567 มุ่งเน้นให้คนในสังคมรวมพลัง ร่วมกันสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมที่มั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมุ่งหวังการสร้างเครือข่าย นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ประชาชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกคนล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เริ่มคิกออฟโครงการฯ ครั้งแรกแล้วที่ภูมิภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะไฮเพลส จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงานคับคั่ง
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนสังคมและพัฒนางานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามที่กำหนดในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้กองทุนมีภารกิจในการรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ ระยะ 5 ปี พ.ศ.2566-2570 ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาเครือข่ายเพื่อการเข้าถึง เผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์เชิงสังคม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนา และขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย
โดยในปี 2564 - 2565 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้จัดทำโครงการจัด กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในปี 2567 กิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค จัดขึ้นตามวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2) เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการรู้เท่าทันสื่อ และส่งเสริมให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนใน 5 ภูมิภาค 3) เพื่อเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และด้านการรู้เท่าทันสื่อไปยังภาคีเครือข่าย หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปในระดับภูมิภาค และ 4) เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจตามยุทธศาสตร์ และการสนับสนุนทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้กับภาคีเครือข่าย หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงภารกิจและการสนับสนุนทุนของกองทุนฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ภาคีเครือข่ายของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ผู้รับทุน ผู้สนใจขอรับการสนับสนุนจากกองทุน สื่อมวลชนท้องถิ่น ผู้ผลิตสื่อท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงาน/องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในทุกภาคส่วน
"กองทุนฯ ยังคงยึดมั่นตามภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ด้วยการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อที่ดีต่อสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ที่เน้นส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์และเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและแสดงความเห็น แต่ยังเป็นพื้นที่ในการขยายขอบข่ายการทำงานของภาคีเครือข่ายใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ตอบสนองต่อบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ในฐานะตัวแทนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าการสร้างการมีส่วนร่วมและการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่องจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสื่อที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมสร้างทักษะ และปกป้องสังคมไทยจากสื่อที่ไม่ปลอดภัย เพื่อสร้างอนาคตที่สื่อจะเป็นพลังบวกสำหรับทุกคน การมีส่วนร่วมของคุณคือพลังสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นจริง"
โดยกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดงานด้วยชุดการแสดงดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัย “สาวสะกิดแม่และออนซอนหอโหวด” โดยพ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) จากนั้นกล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยคุณศักดิ์ศรี ไชยกุฉิน ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และกล่าวเปิดงาน โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยหัวข้อ TMF TALK: “เครือข่ายยุค AI ขับเคลื่อนอย่างไรให้ In Trend” ต่อด้วยงานเสวนาจากภาคีเครือข่าย ผู้รับทุน และเจ้าหน้าที่จากกองทุนฯ ในหัวข้อ “TMF MEDIA PARTNERSHIPS รวมพลังสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ดร.ณรงค์รัชช์ วรมิตรไมตรี คุณศรีมาลาฌ์ ยะภักดี คุณสว่าง สุขแสง คุณเทินพันธ์ แพนสมบัติม และคุณอุษา รุ่งโจน์การค้า ต่อจากนั้นช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม Workshop “TMF MEDIA PARTNERSHIPS รวมพลังสร้างสื่อสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อบรมเชิงปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สร้างสื่อสร้างคน กลุ่มที่ 2 รณรงค์รู้เท่าทันสื่อ และกลุ่มที่ 3 เครือข่ายแบ่งปันแลกเปลี่ยน
สำหรับกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ในปี 2567 กำหนดจัดครั้งต่อไป ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ: วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 3 ภาคใต้: วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จังหวัดตรัง และครั้งที่ 4 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตก: วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ บางนา