เมื่อศักยภาพเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรม S-CURVE ได้รับความสนใจจากทั่วโลก  เป็นการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับนานาประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะมาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย และต่อยอดการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

โดย นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออก อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของนักเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุน โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ภาคตะวันออกจะนำไปสู่การกระจายความเจริญและรายได้สู่ชุมชนในภูมิภาค อีกทั้งยังตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ไมซ์ 20 ปี รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศด้วย

มีเอกลักษณ์และแน่วแน่กับจุดขาย

ด้าน นายปิยะพร ตันคงคำรัตน์ ผู้สืบทอดกิจการตั้ง เซ่ง จั้ว รุ่นที่ 3 ใน จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวถึงเอกลักษณ์ของขนมเปี๊ยะที่จะสู้กับกลุ่มทุนที่จะเข้ามาอย่างถาโถมได้ ว่า จะต้องมีเอกลักษณ์ และแน่วแน่กับจุดขายที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นขนมตั้ง เซ่ง จั้ว รุ่นทุกชิ้นจะไม่ใส่สารกันบูด จำหน่ายอยู่แต่เฉพาะในเมืองไทย โดยมีการต่อยอดหน้าร้านเป็นอาคารการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถสัมผัสความเป็นขนมของ ตั้ง เซ่ง จั้ว

ขณะที่ EEC Automation Park ในมหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน (ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์) ได้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับ EEC Automation Park สายการผลิต (Model Line of Smart Factory) ระบบการจัดเก็บอัตโนมัติ (Automated Storage/Retrieval System) และโรงประลองต้นแบบวิศวกรรม (Fabrication Laboratory) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการจัดตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เพื่อเสริมสร้างทักษะ ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยก้าวสู่ Industry 4.0 เป็นหนึ่งในศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC NETs)

รวมไปถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญใน EEC (EEC Project List)  ซึ่งปัจจุบันภาครัฐกำลังเริ่มขั้นตอนก่อสร้างโครงการรันเวย์ 2  และการประสานขอความชัดเจนต่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพื่อกำหนดจุดเชื่อมต่อสถานีอู่ตะเภา หากมีความชัดเจนทั้งหมดแล้ว ก็จะสามารถออกหนังสือ NTP และเริ่มงานก่อสร้างได้ โดยเบื้องต้น UTA ยังคงเป้าหมายพัฒนาระยะแรก เพื่อเปิดบริการภายในปี 2571

ส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนา

โดยโครงการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการพัฒนาสนามบินภายในพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ บนพื้นที่รับผิดชอบและกำกับดูแลของกองทัพเรือ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กิโลเมตร โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้การศึกษาและเยี่ยมชม เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) EECi ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของไทย ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการขยายขนาดงานวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม ฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ระบบอัจฉริยะจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาก้าวทันสถานการณ์โลก

สำหรับ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation : EECi) ณ บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ได้สนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ EEC โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกิดการการทำวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการนำผลการวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้งานจริง และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมในพื้นที่ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง