“นายกฯ”ประเด็มถกครม.สัญจร”เชียงใหม่” นอนค้างคืน”เชียงราย” ด้าน "ชาญชัย" แจง 2 คำร้อง ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้ง ในฐานะพลเมืองรักษาความยุติธรรมและความถูกต้อง ระบุกระบวนการยุติธรรมถูกกัดเซาะ บ่อนทำลาย เตรียมยื่นครั้งที่ 3 เอาผิดจนท.ราชทัณฑ์ ปล่อย”ทักษิณ”นอนนอกคุก

ที่พระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) เมื่อวันที่ 23 ต.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปวางพวงมาลาเนื่องในวันปิยมหาราช หรือวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในนามนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม น.ส.จิราพร สินธุไพร รมว. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน พล.อ.ณัฐพลนาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม และน.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ รมช.มหาดไทย

นอกจากนั้น ยังมีพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาสักการะ รวมทั้งยังมีหน่วยงานราชการต่างๆ และประชาชน ทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้ายู่หัวด้วย
ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงานการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกที่ จ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  โดยมีกำหนดลงพื้นที่จ.เชียงราย และประชุมครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ย.นี้    

เบื้องต้นได้วางกำหนดการไว้ในวันที่  24 พ.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่จ.เชียงราย  และนอนพักค้างคืนที่จ.เชียงราย 1 คืน ก่อนที่จะเดินทางลงพื้นที่จ.เชียงใหม่ในวันที่ 25 พ.ย. โดยนอนพักค้างคืนที่จ.เชียงใหม่ 1  คืน จากนั้นในวันที่ 26 พ.ย. นายกรัฐมนตรีประชุมครม.สัญจรที่จ.เชียงใหม่

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุตนเตรียมร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัว นายทักษิณ ชินวัต อดีตนายกรัฐมนตรี จากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ร้องขออนุญาตต่อศาลฯ ก่อน และการไปรักษาตัวที่นี่ ไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษ หรือทุเลาโทษโดยกรมราชทัณฑ์ต้องบังคับการลงโทษตามคำพิพากษาศาล ว่า ขอชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่าที่ผ่านมาตนเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.66 โดยตนและนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้ร่วมกันยื่นร้องต่อศาลฯในประเด็นว่านายทักษิณได้รับโทษจำคุกและได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว 

โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริง พฤติกรรมการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ป.วิอาญาและคำสั่งของศาลฯหรือไม่ โดยศาลได้วินิจฉัยตอบในวันนั้นว่าศาลออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาล จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง

“เท่ากับศาล ได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ ร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกานักการเมืองไม่มีอำนาจวินิจฉัย“ 


นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลครั้งที่สอง ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ว่าด้วยหมวด 9 การบังคับคดีข้อ 61 และ 62 ว่ามีกฎหมายมาตรา 246 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรา6 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่ระบุมิให้ออกกฎกระทรวง หรือมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ การที่นายทักษิณ ออกมานอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษ และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง” 

การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ตนไปเขียนคำฟ้องใหม่โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองได้