วันที่ 23 ตุลาคม 2567 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ตนเตรียมร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ไต่สวนกรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ร้องขออนุญาตต่อศาลฯ ก่อน และการไปรักษาตัวที่นี่ ไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษ หรือทุเลาโทษโดยกรมราชทัณฑ์ต้องบังคับการลงโทษตามคำพิพากษาศาลนั้นว่า ตนขอชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่า ที่ผ่านมา ตนเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566
โดยตนและนายนิติธร ล้ำเหลือ ได้ร่วมกันยื่นร้องต่อศาลฯในประเด็นว่า นายทักษิณได้รับโทษจำคุกและได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริง พฤติกรรมการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ป.วิอาญาและคำสั่งของศาลฯหรือไม่
โดยศาลฯ ได้วินิจฉัยตอบในวันนั้นว่า ศาลฯ ออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษและอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง
"เท่ากับศาลฯได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ ร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกานักการเมืองไม่มีอำนาจวินิจฉัย" นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 ตนได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ ครั้งที่สอง ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ว่าด้วยหมวด 9 การบังคับคดีข้อ 61 และ 62 ว่า มีกฎหมายมาตรา 246 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรา6 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่ระบุ มิให้ออกกฎกระทรวง หรือมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่
การที่นายทักษิณ ออกมานอนรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษ และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง” การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ตนไปเขียนคำฟ้องใหม่โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐานและตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองได้
ซึ่งขณะนี้ตนสามารถรวบรวมพยาน หลักฐาน พฤติการณ์การกระทำความผิดได้ 50% แล้ว หรืออาจจะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับไปดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ
"ผมและคณะได้ทำหน้าที่ ในฐานะพลเมืองที่ต้องการรักษาความยุติธรรมและความถูกต้องตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญโดยชี้เป้า ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทราบพฤติการณ์และข้อเท็จจริงข้อกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ถูกกัดเซาะ บ่อนทำลาย ว่า เหตุใดเมื่อทรงพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษให้เหลือ 1 ปี แล้วทำไมหน่วยงานราชการของรัฐจึงไม่ปฏิบัติตาม" นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวว่า ตนขอแจ้ง สิทธิของพลเมืองต่อพี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการรักษาผดุงความยุติธรรมว่า ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อที่ 62 ระบุไว้ว่า "เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อยสามคนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว" หรือพูดตามภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ ตามกฎหมายนี้