เมื่อวันที่ 22 ต.ค.67 นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี รายงานว่า ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบกระทิงได้รับบาดเจ็บบริเวณบ้านกระทุ่น ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยในราชการทหาร ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีราว 7 กม. ซึ่งกระทิงตัวดังกล่าวกำลังตัวโตเต็มวัย อายุค่อนข้างมาก มีร่างกายซูบผอมและได้รับบาดเจ็บที่ขา ทำให้เดินขากะเผลก โดยมักออกมาหากินตามลำพังบริเวณทุ่งหญ้าในหมู่ที่ 5 บ้านกระทุ่น ในช่วงเช้าเป็นประจำ ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้นำทีมเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยนายสัตวแพทย์อนุรักษ์ สกุลพงษ์ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี สัตวบาล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพสัตว์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย พร้อมเวชภัณฑ์ เข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือ
นายอรรถพงษ์ กล่าวว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ นับว่าสุดท้าทาย เพราะการเข้าถึงตัวกระทิงค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าทึบและมีหลุมหุบเหว ทีมงานจึงต้องใช้ความพยายามในการค้นหาและวางยาสลบกระทิงเพื่อทำการรักษา สำหรับปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. โดยใช้อากาศยานไร้คนขับในการค้นหา แต่ไม่พบตัวกระทิง จึงเปลี่ยนแผนเป็นการเดินเท้าปูพรมติดตาม จนกระทั่งเวลา 14.00 น. จึงพบกระทิงในร่องห้วย แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าถล่ม ทำให้ไม่สามารถยิงยาซึมได้ทันที ทีมเจ้าหน้าที่ได้วางแผนหลอกล่อให้กระทิงออกมาอยู่แนวชายป่า และสามารถยิงยาซึมสำเร็จในเวลา 16.40 น. จากนั้นได้เข้าทำการรักษา พบว่ากระทิงมีข้อเท้าขาหน้าด้านขวาถูกบ่วงสลิงรัดจนเป็นแผลลึก มีลวดสลิงติดอยู่ภายในแผล
ทีมสัตวแพทย์ได้ดำเนินการรักษาประกอบด้วยการล้างแผล ขัดเศษเนื้อตายและสิ่งสกปรกออก ใช้ยาฆ่าเชื้อ พันแผล ให้สารน้ำ ฉีดยาปฏิชีวนะ ยาลดปวดและลดอักเสบ ยากำจัดปรสิตภายนอก วิตามินบำรุงร่างกาย และยาแก้ฤทธิ์ยาสลบ การปฏิบัติการช่วยเหลือสิ้นสุดลงเวลา 17.45 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าดูอาการกระทิงจนถึงเวลา 18.00 น. ก่อนถอนกำลังออกจากพื้นที่ ถือเป็นความสำเร็จในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บ และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย