“นายกฯอิ๊งค์” บอกเร่งถ่ายรูปทรัพย์สินยื่น “ปปช.” กลัวไม่ครบ พร้อมปรึกษา”รองนายกฯ” ทำยังไงให้ถูกต้องตาม กฎหมาย ด้าน“วิสุทธิ์” เผยประชุมสภาฯ 24 ต.ค. โหวตรายงานนิรโทษฯ หากคว่ำ “เพื่อไทย” ไม่เสียหน้า ลั่นเพื่อไทยไม่แก้ม.112 ล้านเปอร์เซ็นต์  “ภูมิธรรม"ผสมโรง  ย้ำจุดยืนพรรคร่วมฯ ชัดเจน ไม่แตะ ม.112  

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 ต.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการโอนหุ้นในบริษัทต่างๆ ว่า ตอนนี้ทางบริษัทช่วยกันดูอยู่ว่ามีอะไรอย่างไร ซึ่งจะต้องให้เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง  เมื่อถามว่าจะยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทันในวันที่ 6 พ.ย.หรือไม่ น.ส.แพทองธาร  กล่าวว่า จริงๆ มีเวลาถึง 3 เดือน เขาให้เวลาประมาณ 3 เดือน ไม่น่าจะใช่วันที่ 6 พ.ย.นี้ เท่าที่เช็กจากทีมกฎหมายน่าจะเป็นช่วงปลายเดือน พ.ย.หรือต้น ธ.ค. เดี๋ยวขอบอกอีกทีหนึ่ง แต่ทีมกฎหมายเพิ่งบอกมาซึ่งระยะเวลาในตอนนี้ก็ถ่ายรูปทรัพย์สินทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ เมื่อถามว่า มีอะไรหน้าหนักใจหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า”กลัวไม่ครบคะ” แต่จริงๆก็เต็มที่และได้ปรึกษารองนายกฯ หลายท่านว่าทำอย่างไรกันบ้าง ก็อยากจะให้ถูกต้องแค่นั้นเอง ไม่ได้มีเรื่องอะไร

ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล  กล่าวถึงทิศทางการโหวตรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ในวันที่ 24 ต.ค. ว่า ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นรายงานการศึกษาไม่ใช่ พ.ร.บ. เมื่อปีที่แล้วกระแสเรื่องนิรโทษกรรมมาแรง พรรคก้าวไกลในขณะนั้นได้ยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมเข้ามา 4 ฉบับ ณ ขณะนั้นในฐานะพรรคหลักรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ก็ขอให้ศึกษาดูก่อน การตั้งกรรมาธิการศึกษาก็มาจากทุกพรรคการเมือง และยังมีศาล นักวิชาการ และ อัยการ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูล ในการศึกษาครั้งนี้ก็ไม่ได้ฟันธงว่าจะให้หรือไม่ให้ เป็นเพียงแจ้งผลการศึกษาเท่านั้น

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า หากวันที่ 24 ต.ค. เข้าสภาก็มี 2 ทาง คือ 1. หากสภาเห็นชอบกับข้อสังเกตก็ส่งรัฐบาลต่อไป แต่จะทำตามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล สภาฯไม่ได้บังคับว่าให้ทำหรือไม่ให้ทำ 2.หากหลายพรรคไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตก็ถือว่าตกไป ไม่ต้องส่งให้หน่วยงานใด ไม่มีอะไรเป็นที่น่ากังวล ส่วนพรรคเพื่อไทยจะมีการประชุม สส.ของพรรค ก่อนประชุมสภาฯ เพื่อให้สส.แสดงความคิดเห็นและขอมติพรรคว่าจะไปในทิศทางใด ไม่สามารถไปตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทุกอย่างต้องผ่านมติพรรค

ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนเรื่อง มาตรา112 จะแก้ไขหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า จุดยืนเรื่อง มาตรา112 พันเปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มี พรรคเพื่อไทยไม่แก้เรื่องมาตรา 112 โดยเด็ดขาด  เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยจะปล่อยให้ส.ส.ฟรีโหวตข้อสังเกตรายงานหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวยืนยันว่า ต้องคุยกันก่อนในพรรคต้องมีการปรึกษาหารือ นายชูศักดิ์ในฐานะประธานศึกษารายงานฉบับนี้ก็ต้องไปชี้แจงต่อในพรรค เพื่อให้สมาชิกได้ซักถามก่อน ซึ่งจะไปในทิศทางใดต้องรอช่วงเช้าของวันที่ 24 ต.ค.

 เมื่อถามว่า หากรายงานฉบับนี้ไม่ผ่านจะถือว่าพรรคเพื่อไทยเสียหน้าหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่เสียหน้าเพราะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ได้มีแต่พรรคเพื่อไทย แต่มีทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ร่วมกันศึกษา ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว เพราะฉะนั้นอย่าไปว่านายชูศักดิ์ที่เป็นประธานกรรมาธิการแล้วจะเสียหน้า  เช่นที่ผ่านมารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยฯ ที่ศึกษาโดยรัฐบาลก็ถูกตีตกในสภาก็ไม่เห็นเป็นอะไร ทุกคนยอมรับได้หมด เป็นเพียงผลการศึกษา ไม่ใช่กฎหมายของพรรคเพื่อไทย
 
  เมื่อถามอีกว่า หากสภาโหวตตกทิศทางการตรากฎหมายจะเป็นอย่างไร นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ไม่ใช่ว่าเห็นกับข้อสังเกตแล้วส่งให้รัฐบาล รัฐบาลจะไปทำตามก็ไม่เกี่ยว รัฐบาลอาจรับไว้เฉยๆแต่ไม่จำเป็นต้องดำเนินตามผลการศึกษา และขณะนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอยู่ในวาระหลายฉบับ แต่ต้องดูอีกทีว่าจะเข้าในสมัยนี้หรือสมัยหน้า เพราะวิปยังไม่ได้หยิบเข้ามาพิจารณา เมื่อถามว่า การโหวตรายงานการศึกษาจะเป็นจุดชี้ทิศทางการออกกฎหมายหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องเลย เช่นตนเคยเป็นประธานพิจารณาแลนด์บริดจ์ก็ส่งให้รัฐบาลไปพิจารณา แต่ไม่ทำก็ไม่เป็นไร

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า ต้องไปดูที่สภา ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายกฯ ได้ตอบไปแล้ว ไม่ต้องถามซ้ำ โดยนายกฯ บอกว่าทุกพรรคเห็นเหมือนกัน คือไม่เอามาตรา 112 เพราะเป็นเงื่อนไขในการตั้งรัฐบาล

เมื่อถามว่า กรณีที่บอกว่าแยกหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร กับฝ่ายสภา หมายความว่าอย่างไร แสดงว่าไม่ต้องเห็นตรงกันก็ได้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่ ฝ่ายบริหารก็ร่วมมือกันทำงาน ในส่วนที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็พยายามแก้ไขปัญหาพูดคุยกัน ซึ่งเมื่อวานได้รับประทานอาหารด้วยกันก็ถือว่า ได้พูดคุยกัน อะไรที่เป็นวิธีทำงานที่ทุกคนร่วมมือกันได้ก็ทำกัน ส่วนฝ่ายสภาฯ ก็มีวิปดูแล ที่ต้องดำเนินการในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งจะเห็นเหมือนหรือเห็นต่างก็มาว่ากันในรายละเอียด เพราะฉะนั้น 2 อำนาจนี้ได้แยกกันชัดเจน หากเอาปัญหากฎหมายมาถามรัฐบาลมันก็คนละเรื่องกัน

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลร่วมมือกันทุกอย่าง โดยจะเห็นเหมือน หรือเห็นต่าง นายกฯ ก็ตอบแล้วว่า เริ่มต้นมาก็ได้คุยทั้งสิ่งที่เห็นเหมือน และเห็นต่าง ซึ่งเรื่องของพรรค พรรคก็ไปคุย โดยจริง ๆ อาจจะดูเป็นเหมือนเรื่องเดียวกัน แต่มันแยกบทบาท


เมื่อถามว่า พอจะบอกได้หรือไม่ว่าเรื่องที่เห็นต่างมีอะไรบ้าง นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเซนซิทีฟ ตามที่นายกฯบอก ซึ่งเป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องพูดคุยกัน และเพื่อที่จะต้องทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น นายกฯ ก็ได้บอกแล้วว่าจะเชิญแต่ละพรรคมาพูดคุยกันเป็นประจำ เพราะมีปัญหาที่หลากหลาย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งสอบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมเดิม ถูกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำและชี้นำ ว่า ไม่กังวล เพราะผู้ที่ไปร้องเรียนมีสิทธิ์ที่จะไปร้องตามสิทธิ์ของเขา เมื่อ กกต.วินิจฉัยอย่างไร ก็คงจะมีการเชิญไปชี้แจง ในส่วนของพรรค ชทพ.ไม่เห็นมีอะไรที่ผิดปกติ ถามอะไรมาก็ตอบไปอย่างนั้น ไม่ได้คิดว่าน่ากังวลอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันว่าชทพ.ไม่มีใครสามารถครอบงำได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า "ไม่มีหรอกครับ ขนาดผมเองจะคุยกันในพรรคยังครอบงำไม่ได้เลย ขนาดเป็นหัวหน้าพรรค ฉะนั้น พรรคชาติไทยพัฒนาเราอยู่กันเหมือนครอบครัว มีผู้หลักผู้ใหญ่และมีคนรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยกัน ก็เหมือนญาติพี่น้องกัน ฉะนั้น จะมีใครมาครอบงำคงเป็นไปไม่ได้"

เมื่อถามว่า ยุคนี้มีการยื่นยุบพรรคการเมืองง่ายไปหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า พอมีกรณีตัวอย่างก็อาจจะเป็นชนวนให้คนบางกลุ่ม สามารถเอาเรื่องมาปะติดปะต่อกัน ทำเป็นเรื่องร้องเรียนยุบพรรคได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคที่จะชี้แจงในส่วนของแต่ละพรรคกันไป


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการรับประทานอาหารค่ำระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับพิจารณาคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำ ว่า ไม่มีข้อเท็จจริงตามที่เขากล่าวอ้าง ส่วนประเด็นที่ว่าครอบงำคงไม่ใช่ เพราะทุกพรรคที่มาร่วมรัฐบาลหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการเลือก เราก็มาประชุมกัน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น เราคาดไม่ถึงว่า นายเศรษฐา ทวีสิน จะหลุดเก้าอี้นายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีการพบปะคุยกัน และไม่มีใครมาชี้นำ หรือมาครอบงำ เพราะทุกอย่างมีกฎหมายล็อกเอาไว้หมด เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้นายทักษิณเชิญทุกพรรคไปพูดคุย หรือไปหากันเอง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะส่วนใหญ่ตนจะอยู่กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ และหลังจากนั้นก็มีคนโทรศัพท์เข้ามา

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ก่อนเข้าร่วมประชุม ครม. ถึงการดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าภาพ ได้มีการพูดคุยอะไรบ้าง ว่า นายกฯ ตอบไปหมดแล้ว ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกฎหมายนิรโทษกรรม พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนอย่างไร นายเฉลิมชัย กล่าวว่า จุดยืนเราไม่แตะ 112