วันที่ 22 ต.ค.67 ณ วัดเยื้องคงคาราม ตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับแขวงทางหลวงอ่างทอง ศูนย์ป่าไม้อ่างทอง องค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบลเทวราช อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก องค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และกองบริการ ศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ร่วมทำกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2567 โดยร่วมกันบำรุงรักษาต้นไม้ ณ วัดเยื้องคงคาราม ตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 บนเนื้อที่ 6 ไร่
เนื่องด้วย วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีนั้น นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) แล้ว ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เป็นวันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน “วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ” ถือกำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาต้นไม้และฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ โดยทรงปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ด้วยพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพ โดยครั้งหนึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่ว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” เนื่องจากพระองค์ทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุง จากเดิมที่เคยเป็นภูเขาแห้งแล้งไม่มีต้นไม้อยู่เลย ซึ่งพระราชดำรินี้รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอกเปรมติณ สูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นจึงได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ. 2531 ทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้จากความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ และได้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง
ซึ่งวัดเยื้องคงคาราม ตำบลเทวราช อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นสถานที่จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 บนเนื้อที่ 6 ไร่ โดยได้ร่วมกันปลูกต้นมะพลับ พะยอม มะฮอกกานี พะยูง ประดู่ป่า ยางนา ตะเคียนทอง และมะค่าโมง จำนวนประมาณ 400 ต้น เพื่อรณรงค์ปลุกจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน รวมถึงเยาวชน นักเรียนและนักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ รวมพลังร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะทำประโยชน์แก่ส่วนรวม และเป็นต้นแบบในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชน เพื่อช่วยลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นละอองและหมอกควัน รวมทั้งช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถานการณ์ในตอนนี้ คือ ภาคเหนือเกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเรามีต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น สิ่งนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยกักเก็บน้ำให้คงอยู่ได้ และเมื่อมีการปลูกต้นไม้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่อยู่รวมกันหลายๆต้น และกลายเป็นผืนป่าที่มอบชีวิตให้แก่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก นั่นคือการบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ เห็นคุณค่า และความสำคัญของต้นไม้ ดังนั้น เป้าหมายของวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2567 ในวันนี้ จะบรรลุได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนเอง ที่ต้องเห็นคุณค่าและรักษาป่าไม้ในประเทศไทยไว้ ให้คงอยู่และยั่งยืนสืบไป