วันที่ 22 ต.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายปกครอง จ.เชียงราย ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งเทศบาล ต.แม่สาย และเทศบาล ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย อย่างถาวรหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นควรว่าหากจะแก้ไขปัญหาน้ำเข้าท่วมชุมชนต้องให้อาคารที่สร้างอยู่ติดลำน้ำสายซึ่งเป้นเส้นเขตแดน ได้โยกย้ายออกริมฝั่งเป็นระยะทางประมาณ 40 เมตร และสร้างพนังกั้นน้ำที่ถาวร 

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยูริมฝั่งและมีการสร้างอาคารสถานที่เอาไว้มานาน รวมทั้งตลาดสายลมจอย ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวชายแดนก็อยู่ติดกับลำน้ำสายอีกด้วย

โดย นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ยังคงทำการฟื้นฟูชายแดน อ.แม่สาย  จ.เชียงราย โดยเฉพาะนำดินโคลนออกมา ซึ่งพบว่ามีความคืบหน้าจนทำให้วันที่ 21 ต.ค.2567 กองกำลังอาสารักษาดินแดน (อส.) ของฝ่ายปกครองก็จะเริ่มถอนตัวออกไป และถัดไปในวันที่ 28 ต.ค.2567 กองกำลังทหารฝ่ายต่างๆ ก็จะถอนกำลังออกไป เป็นต้น 

จากนั้น ทางเทศบาล ต.แม่สาย ก็จะรับช่วงในการฟื้นฟูส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งพบปัญหาใหญ่คือระบบระบายน้ำ เพื่อจัดส่งน้ำให้กับประชาชนได้เหมือนเดิมเพราะพบว่าดินโคลนเข้าไปอุดตันหมด สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวทางจังหวัดได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า โยธาธิการและผังเมือง ธนารักษ์ ส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เห็นควรให้มีอาคารบ้านเรือนห่างจากริมฝั่งประมาณ 40 เมตร 

นายชัยยนต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการได้มีการตั้งคณะทำงานออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดแรกเข้าไปสำรวจพื้นที่ทั้งหมดเพื่อนำมาประกอบการออกแบบ ชุดที่ 2 เข้าไปประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และชุดที่ 3 คือนำข้อมูลมาออกแบบเพื่อดำเนินการในอนาคตต่อไป 

“ตนเห็นว่ามีความสำคัญเพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องพบเจอกับเหตุอุกภัยเช่นนี้ต่อไป กระนั้นอาคารที่อยู่ริมฝั่งก็มีอยู่เป็นจำนวนมกและซับซ้อน เช่น ริมฝั่งด้านตลาดสายลมจอยมีผู้เข้าเช่าพื้นที่เพียงง 10 ราย แต่กลับมีผู้ใช้ประโยชนจากพื้นที่จริงถึงกว่าประมาณ 120 ราย เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันโดยเฉพาะปัจจุบันระบบป้องกันน้ำท่วมในอดีตเสียหายทั้งหมด 100% แล้วจากกระแสน้ำที่เข้าท่วมเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ปัจุบันกำลังมีการสร้างพนังและบิ๊กแบ๊คใหม่แต่ในระยะยาวคงต้องสร้างพนังถาวรเฉพาะฝั่งไทยเป็นหลักก่อนต่อไป” นายชัยยนต์ กล่าว