เหลืออีกเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 (พ.ศ. 2567) กันแล้ว ซึ่งจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนนี้

ทว่า แม้จะเหลือเวลาอีกเพียงสองอังคารเท่านั้น แต่เหล่าบรรดาแพทย์ด้านจิตเวชทั้งหลาย ต่างออกมาเตือนต่อประชาชนชาวอเมริกัน ให้ระมัดระวัง ดูแลสุขภาพจิตกันด้วย

เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประชาชนชาวสหรัฐฯ ต่างพากันเคร่งเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ฝักใฝ่ในทางการเมือง ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็ได้รับคำเตือนจากบรรดาแพทย์ด้านจิตเวช ให้ระมัดระวัง และดูแลสุขภาพจิตยิ่งกว่ากลุ่มอื่นๆ

ตามการเปิดเผยของ “สมาคมจิตเวลอเมริกัน (American Psychiatric Association)” ได้รายการสำรวจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนอันสืบเนื่องจากการเมืองสหรัฐฯ ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเข้มข้นนี้ โดยระบุว่า พลเมืองชาวอเมริกันราว 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75 เลยทีเดียว ที่กำลังมีอาการเครียดจากสถานการณ์การเมืองข้างต้น

พร้อมกันนี้ บรรดาแพทย์ด้านจิตเวชของสหรัฐฯ ก็ยังเป็นห่วงด้วยว่า แนวโน้มที่พลเมืองชาวอเมริกันจะมีอาการเครียดจากการเมือง กำลังจะมีอัตราเพิ่มมากขึ้นจากตัวเลขดังกล่าวอีกด้วย

โดยอาการความเครียดที่ว่า ก็เป็นผลมาจากการเสพข่าวสารทางการเมือง ที่ในยุคนี้ สมัยนี้ มีช่องทางการเสพข่าวมากมายยิ่งกว่าในอดีต เพราะมิใช่มีเพียงวิทยุ โทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งทำให้ข่าวสารหลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น

นอกจากการเสพข่าวที่มีปริมาณอย่างมหาศาลแล้ว ก็ยังมีเรื่องถกเถียงกันระหว่างคอการเมืองแต่ต่างขั้ว ต่างพรรคการเมืองกัน ส่งผลต่อความเครียดให้เพิ่มขึ้นอีก

กลุ่มต่อต้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรครีพับลิกัน ถึงขั้นขึ้นป้ายประท้วงบนรถบรรทุกเล็ก (Photo : AFP)

ใช่แต่เท่านั้น ยังมีเรื่องความวิตกกังวลต่ออนาคตของประเทศ หากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่เป็นปฏิปักษ์ของพวกเขา ได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศในฐานะประธานาธิบดี ก็ส่งผลให้เกิดอาการเครียด ซึ่งความเครียดที่ว่า ถ้าอาการหนักก็ลุกลามบานปลายกลายเป็นโรค คือ โรคเครียด ขึ้นมาได้

ดร.ลินน์ บัฟกา จิตแพทย์แห่งสมาคมจิตเวชอเมริกัน เปิดเผยว่า บรรยากาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการถกเถียงกันในทางการเมือง กำลังทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น พร้อมกับการเกิดทรรศนะ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้นอีกด้วย

พร้อมกันนี้ ดร.บัฟกา ยังแสดงความวิตกกังวลด้วยว่า จากสถานการณ์บรรยากาศการเลือกตั้ง และมีการถกเถียงกันข้างต้นนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อส่วนรวม นั่นคือมีผลต่อผู้คนรอบข้างด้วย

เรียกว่า อาการเครียดมิใช่แต่จะทำให้ผู้นั้นเครียดเอง ทว่ายังทำให้ผู้คนรอบข้าง ต้องพลอยมีอาการเครียดไปด้วย ยิ่งถ้ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี ครั้นจะไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเลย สถานการณ์และบรรยากาศ ก็อาจเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก

ดร. บัฟกา ได้สรุปในตอนท้ายว่า อาการเครียด หรือโรคเครียดที่มาจากการเลือกตั้ง หรือจากทางการเมือง ต้องถือว่าร้ายเหลือ เพราะนอกจากส่งผลกระทบต่อส่วนบุคคล หรือส่วนตัวแล้ว ก็ส่งผลกระทบต่อเรื่องงานด้วย

นอกจากนี้ ดร.บัฟกา หนึ่งในจิตแพทย์แห่งสมาคมจิตเวชอเมริกัน ได้มีข้อแนะนำว่า ควรพยายามควบคุมการรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองลง หรืออาจจะหาทำในกิจกรรมอื่นๆ ตลอดจนการใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ที่ทำให้ตนเองมีความสุขมากขึ้น เช่น การไปรับประทานอาหารที่ชื่นชอบมีประโยชน์ รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกเหนือจากการเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ เพื่ออ่านข่าวการเมือง ยิ่งถ้าเป็นข่าวการเมืองในเชิงด้านลบแล้ว ก็จะยิ่งส่งผลทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกด้านลบต่อเราในฐานะที่เป็นผู้อ่าน หรือผู้รับสาร มากยิ่งขึ้น โดยยิ่งทำให้เครียดหนักขึ้น

กลุ่มต่อต้านนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครต ถือป้ายประท้วงรองประธานาธิบดีแฮร์ริส (Photo : AFP)

ทางด้าน ดร.เควิน สมิธ อาจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนเบรสกา ในสหรัฐฯ ก็ออกมากล่าวถึงปัญหาความคิดเห็นทางการเมืองส่วนบุคคล ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนรอบข้างของชาวอเมริกันด้วยว่า จากการสำรวจศึกษาพบว่า ร้อยละ 20 – 25 หรือราว 1 ใน 5 หรือถึงราว 1 ใน 4 ของพลเมืองชาวอเมริกันเลยทีเดียว ที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

พร้อมกันนี้ ดร.สมิธ ได้เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยของเขา โดยระบุด้วยว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอเมริกัน ต้องถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม และมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ซึ่งจากการศึกษาวิจัย พบว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการเครียดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

ดร.สมิธ ยังแนะนำด้วยว่า ต้องควรลดความสนใจทางการเมืองลงบ้าง จึงจะช่วยหลีกเลี่ยงอาการเครียดให้น้อยลง แม้ว่าคำแนะนำดูอาจจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวมนัก แต่เพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตของพวกเขาเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำ

ทางด้าน ดร.คีแรน ดินติยาลา หรือที่รู้จักกันในนาม “ด็อกเตอร์คาล์ม” นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียด ซึ่งมีผลงานด้านการเขียนในหนังสือที่มีชื่อว่า “มนตราแห่งการเมืองอย่างสันติ (The Mantra of Peaceful Politics)” ได้แนะนำถึงวิธีการจัดการความเครียดจากการเมือง หรือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นด้วยว่า

“ให้คิดอย่างนี้ว่า นักการเมืองพวกนั้นมาแล้วก็ไป เช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่เมื่อมีแล้วก็จะมีอีก ซึ่งเหล่านี้ เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้เพียงแค่ร้อยละ 10 หรือร้อยละ 20 เท่านั้น อย่างมากไม่เกินร้อยละ 30 แต่อนาคตและความสุขส่วนใหญ่ของพวกเราทุกคนนั้นสำคัญกว่า และสิ่งที่เราควรทำกันในแต่ละวันมากกว่า รวมถึงพฤติกรรม ตลอดจนอารมณ์และความรู้สึกของเราด้วยที่พยายามทำให้มีความสุขเข้าไว้” ก็จะช่วยลดความเครียดลงไปได้เป็นอย่างมาก