วันที่ 21 ต.ค.67 นายธวัชชัย คูณชัยพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67 ได้ทำหนังสือ ที่ สพ.017/2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวกในฐานะความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยหนังสือดังกล่าวระบุผู้กล่าวหา คือ บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด โดย นายธวัชชัย คูณชัยพานิชย์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน

 

ส่วนผู้ถูกกล่าวหา 4 คน ประกอบด้วย 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2.รองศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดกรุงเทพมหานคร 3.นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดกรุงเทพมหานคร 4.นางศศิกร ยาทิพย์สกุล ตำแหน่งเลขานุการสำนักการโยธา สังกัดกรุงเทพมหานคร

 

เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ลงนามยกเลิกโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร มูลค่ากว่า 3.4 พันล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุผลว่า การก่อสร้างระยะที่ 2 อาจไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีแผนย้ายโครงการมาก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ทดแทน

 

นายธวัชชัย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ครั้งนี้ คือ กรณีการลงนามยกเลิกโครงการดังกล่าวใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่ง ทำให้บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาเสียค่าธรรมเนียมธนาคารกว่า 500,000 บาท ในการค้ำประกันซองประกวดราคาวงเงิน 34 ล้านบาท ซึ่งการลงนามยกเลิกโครงการไม่ควรใช้เวลามากขนาดนี้ เพราะเกิดความเสียหายแก่ผู้ชนะการประกวดราคา ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการมาอย่างถูกต้อง ก่อนจะมีการเริ่มก่อสร้างในระยะแรกไปแล้ว

 

ประเด็นต่อมา เหตุผลในการลงนามยกเลิกโครงการคือ การก่อสร้างระยะที่ 2 อาจไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ยกเลิกโครงการ เพราะการก่อสร้างสามารถออกแบบ ปรับแก้ให้สอดคล้องกับผลประเมิน EIA ได้ และไม่มีหน่วยงานใดคัดค้านการก่อสร้างโครงการนี้

 

นอกจากนี้ ยังได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง กรณีกรุงเทพมหานครใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่ง ในการลงนามยกเลิกโครงการ ทำให้บริษัทเสียค่าธรรมเนียมธนาคารกว่า 500,000 บาท ในการค้ำประกันซองประกวดราคาวงเงิน 34 ล้านบาท

 

นายธวัชชัย กล่าวว่า ตนไม่ติดใจเรื่องยกเลิกโครงการ แต่ติดใจเรื่องที่ว่า เหตุใด กทม.จึงใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่ง กว่าจะมีการลงนามยกเลิกโครงการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท รวมถึงเหตุผลในการยกเลิกโครงการยังไม่เพียงพอ ซึ่งการก่อสร้างสามารถทำให้ถูกต้องตามผลประเมิน EIA ได้ จึงสงสัยว่า เจตนาในการยกเลิกโครงการคืออะไรกันแน่ เพราะแผนที่จะย้ายโครงการไปก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก กทม.ไม่ใช้ผู้ชนะการประกวดราคารายเดิม