เมื่อวันที่ 20 ต.ค.67 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 821,389 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 399 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 365 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 24 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 10 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 229 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 87 เรื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 104 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 50 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 30 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 6 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 39 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเรื่องภัยพิบัติ และข่าวด้านนโยบายรัฐ หน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องต่อการใช้ชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง ตั้งแต่ต้นปีมีพายุเข้าไทยมาแล้ว 11 ลูก คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเข้ามาทั้งหมด 24 ลูก

อันดับที่ 2 : เรื่อง ข้อมูลพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ที่จะถูกน้ำท่วม

อันดับที่ 3 : เรื่อง ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ทางไอดีไลน์ pea1125

อันดับที่ 4 : เรื่อง ผู้พิการที่ลงทะเบียนเงิน 10,000 บาท ไม่ทัน สามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ 10 ต.ค. และรับเงินวันที่ 22 ต.ค.

อันดับที่ 5 : เรื่อง หากเกิดอาการหัวใจวาย ให้เคี้ยวยาแอสไพริน ช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเลือด และป้องกันการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น

อันดับที่ 6 : เรื่อง โครงการตรวจเช็กมิเตอร์ไฟประจำปี โดยดำเนินการติดต่อทางไลน์ PEA.E-Service

อันดับที่ 7 : เรื่อง เตือนให้อพยพทันที เนื่องจากพายุมิลตันทวีกำลัง กลายเป็นพายุรุนแรงที่สุดในโลกของปีนี้

อันดับที่ 8 : เรื่อง PEA แจ้งเปลี่ยนมิเตอร์ไฟ ลงทะเบียนรับสิทธิเงินประกันคืน 3,500 บาท ผ่านไลน์ส่วนตัว PEA THAILAND

อันดับที่ 9 : เรื่อง น้ำทะเลชายฝั่ง จ.สงขลา และ จ.สุราษฎร์ธานี ลดลงเป็นระยะทาง 2 กม. อาจทำให้เกิดสึนามิ

อันดับที่ 10 : เรื่อง เตรียมเฝ้าระวังภัยสึนามิบริเวณอ่าวไทย

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ มากถึง 5 อันดับ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA รวมทั้งข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการสวัสดิการ สุขภาพ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ความสับสน สร้างความเสียหาย การเข้าใจผิด ให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ตั้งแต่ต้นปีมีพายุเข้าไทยมาแล้ว 11 ลูก คาดการณ์ว่าทั้งปีจะเข้ามาทั้งหมด 24 ลูก” พบเป็นข้อมูลเท็จ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการนำข้อมูลจากแบบจำลอง (ในคลิปวิดีโอไม่ได้กล่าวถึงแหล่งข้อมูล) มานำเสนอ ซึ่งแบบจำลองได้คาดการณ์จำนวนพายุที่เกิดขึ้นบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ) แต่ในความเป็นจริงแล้วพายุที่เกิดขึ้นบริเวณดังกล่าวเคลื่อนที่ตามทิศทางลมที่พัดในขณะนั้น ไม่ได้เคลื่อนมาประเทศไทยทั้งหมด โดยมีพายุหมุนเขตร้อนที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2567 ถึงปัจจุบัน เพียงมี 1 ลูก คือ พายุโซนร้อน “ซูลิก (SOULIK,2415)” และได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนเข้าประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนม ในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ย. 67 จากนั้นได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงเย็นของวันเดียวกัน และจากการคาดการณ์คาดว่าในปี 2567 จะมีพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก

ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าว พยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “ข้อมูลพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ที่จะถูกน้ำท่วม” พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า สืบเนื่องจากวันที่ 10 ตุลาคม 2567 กทม. มีการแจ้งเตือนประชาชนเฉพาะชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำจำนวน 7 เขต เท่านั้น ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ได้ที่เว็บไซต์ www.prbangkok.com หรือโทร 0-2221-2141-69

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด