นครพนมชูตำนานบวงสรวงไหลเรือไฟโบราณ เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น ส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยว ชื่นชมการรำชุด แต่งกายประจำถิ่น 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ สวยงามตื่นตา สร้างสีสันหนึ่งในกิจกรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วงงานประเพณีออกพรรษาไหลเรือไฟ
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ขบวนแห่เครื่องบวงสรวง พร้อมชุดการแสดงรำพื้นบ้าน ในพิธีย้อนตำนาน สืบสานประเพณีไหลเรือไฟโบราณ มี นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ส.ส.เขต 2 นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานนำนำข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากภาครัฐเอกชน และตัวแทนภาคประชาชน แห่เครื่องบวงสรวง และเรือไฟโบราณ ทำจากกาบกล้วย ถือเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ของ จ.นครพนม หนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วงงานประเพณี ออกพรรษา ไหลเรือไฟ สนับสนุนการจัดงานโดย สภาอุตสาหกรรมนครพนม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้รับรู้ถึงที่มาของเรือไฟ
ซึ่งจากอดีตจะเริ่มจากการไหลเรือไฟโบราณ ทำจากกาบกล้วย พร้อมวางเครื่องบวงสรวง เป็นพุทธบูชา ต่อพญานาค และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง ตามประเพณีความเชื่อ จนกระทั่งมีการพัฒนา สร้างเรือไฟขนาดใหญ่ แต่ยังยึดถือการประดับตกแต่งด้วย ตะเกียงไฟโบราณ สื่อถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น กลายเป็นประเพณี ส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวมาถึงปัจจุบัน ในช่วงงานประเพณีไหลเรือไฟ จึงมีการประกอบพิธีย้อนตำนานความเชื่อ บวงสรวงถวายเครื่องสักการะบูชา ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่จะมีการไหลเรือโบราณ ยังยึดถือสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการแสดงที่เป็นสีสัน โชว์ถึงอัตลักษณ์ ประจำถิ่น ที่น่าชื่นชม จะมีการจัดการแสดงในงานประเพณีสำคัญ คือ การแสดงฟ้อนรำ ในชุดประจำชนเผ่า เนื่องจาก จ.นครพนม มีความหลากหลาย ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้มีชนเผ่า อาศัยอยู่ในพื้นที่ 12 มากถึง 9 ชนเผ่า รวมอีก 2 เชื้อชาติ ทำให้มีชุดการแสดง ที่มีความหลากหลาย ในวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น รวมถึงการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ความสวยงาม หลากหลาย กลายเป็นที่ชื่นชม สร้างความประทับ ใจแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว เป็นอย่างมาก