กยท. ดึงหน่วยงาน กษ. ร่วมหารือยกระดับสถาบันเกษตรกรสวนยาง ชู ‘โมเดลสหกรณ์’ หยิบเทคโนโลยีช่วยจัดการข้อมูล

วันที่ 18 ต.ค. 67 นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นประธานในการประชุมหารือความร่วมมือพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 2568 ดึงหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมหารือยกระดับสถาบันฯ วางเป้าสร้างโมเดลสหกรณ์ พร้อมนำเทคโนโลยีจัดการข้อมูล มุ่งสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมสถลสถานพิทักษ์ การยางแห่งประเทศไทย 

นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ และความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในการหารือแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยที่ประชุมฯ ได้เสนอแนวทางให้มีการคัดเลือกสหกรณ์ตัวอย่างเพื่อเป็นโมเดลในการดำเนินงานของสหกรณ์อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวางแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสหกรณ์อื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการข้อมูลด้านบัญชี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกด้วย ซึ่งการประชุมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในวงการยางพาราต่อไป

นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งในด้านวิชาการ การเงิน การผลิตและแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด รวมถึงการประกอบธุรกิจ ภายใต้แผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ตามวิสัยทัศน์ “บริหารยางพาราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ การประชุม สัมมนา ศึกษาดูงาน ตลอดจนสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อขยายเครือข่ายการทำธุรกิจการค้าทั้งในและต่างประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม และผลักดันผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ให้กับสถาบันฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป โดยมีโครงการที่ กยท. ให้การสนับสนุน อาทิ โครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ โครงการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ โครงการพัฒนาศักยภาพจุดรวบรวมยางพาราเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ Smart Rubber Learning Center ของศูนย์เรียนรู้ยางพารา การเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตยางพาราด้วยกรดฟอร์มิกและฮอร์โมนเอทธิลีน รวมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนและเงินให้กู้ยืมสำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) และ 49(6)