วันที่ 18 ต.ค 67 ที่หอประชุมสำนักงานเกษตรอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธรได้จัดประชุมวางแผนการดำเนินการร่วมกับเกษตรกรแกนนำผู้ผลิตพืชผักในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ภายใต้โครงการ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในมิติทางด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน และการทำงานแบบบูรณาการโดยอาศัยเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมุ่งหวังที่จะเห็นการยกระดับอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน
การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรเป็นหนึ่งในแผนงานนำร่องในการขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกรผู้ปลูกผักได้รับความรู้และฝึกทักษะด้านการผลิต การบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน สร้างนวัตกรชุมชน เพื่อยกระดับทั้งเกษตรกร และขยายผลสู่เครือข่ายเกษตรกรทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ต่อไป
นายจักรกรี ธิมาชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธรกล่าวว่า การดำเนินโครงการ “การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ปีนี้เป็นปีที่ 2” เกิดจากการนำกลุ่มเกษตรกรเข้าไปศึกษาดูงานตามกลุ่มผู้ผลิตผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ในจังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรจึงเกิดแรงบันดาลใจ ในการริเริ่มการปลูกพืชผักในระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร จึงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การทำโรงเรือนพลาสติก องค์ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่ การปลูกพืชผัก การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอค้อวัง จึงมีความคิดต่อยอดการปลูกพืชผักเพื่อจัดจำหน่ายตลาดสีเขียวที่ทางโรงพยาบาลจัดขึ้นทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 06.00 ถึง 10.00 น. และจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลอำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร เพื่อประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลได้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลอำเภอค้อวัง ได้เข้ามาร่วมกันวางแผน กำหนดเงื่อนไขการส่งผักเข้าครัวโรงพยาบาล (ชนิดผักที่รับ ปริมาณที่รับ มาตรฐาน และเงื่อนไขการเบิกจ่าย) รวมทั้งวางแผนกระบวนการวางแผนการผลิตให้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และการรวบรวมผลผลิต (ปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัด) เพื่อที่จะร่วมกันวางแผนกำหนดแนวทางการปลูกพืชผักของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย