สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

โบราณาจารย์มักนิยมสร้างพระนาคปรกขนาดเล็กเรียกกันว่า "พระนาคปรก ใบมะขาม" เพราะมีขนาดเล็กจิ๋วเหมือนใบมะขาม และ "พระนาคปรกใบมะขาม วัดท้ายตลาด" หรือที่เรียกชื่อเป็นทางการว่า "วัดโมลีโลกยาราม" ซึ่งจัดสร้างโดย หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ

นับเป็นหนึ่งในวัตถุมงคลพระนาคปรกยอดนิยมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ ที่ ณ ปัจจุบันหาดูหาเช่าได้ยากยิ่ง

หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ หรือ พระสนิทสมณคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ด้วยความมีศีลาจารวัตรงดงาม มีเมตตาธรรม และมีความสมถะ ทรัพย์ และปัจจัยใดๆ ที่ได้มานั้น ท่านจะนำไปทำนุบำรุงและบูรณะเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดทุกครั้งไป จนมีประวัติอยู่ในหนังสือ "คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 2" พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แม้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงนับเป็นสหชาติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทักษิณานุปทานในงานเฉลิมพระชนม พรรษาครบรอบในทุกคราว  ท่านเป็นพระภิกษุชาวเขมร เกิดที่เมืองพระตะบอง เมื่อปี พ.ศ.2396 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักพระธรรมโกษาวัดนรา เมืองพระตะบอง ตั้งแต่อายุได้ 8 ปี

ต่อมาบรรพชาและอุปสมบทแล้วเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ที่วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศที่ พระครูปัญญาคฑาวุธ ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองพระตะบอง แล้วเลื่อนเป็นพระราชาคณะที่ พระปัญญาคฑาวุธ และ พระสนิทสมณคุณ ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑล ตามลำดับ ครั้นเมื่อไทยคืนเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้แก่กรุงกัมพูชา หลวงพ่อเงินจึงพาเหล่าศิษยานุศิษย์อพยพเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคราวเดียวกับ หลวงพ่อคง สุวัณโณ พระเกจิผู้เรืองนามอีกรูปหนึ่ง มาจำพรรษาที่วัดซำป่างาม จ.ฉะเชิงเทรา

หลังจากหลวงพ่อเงินได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานและศาสนวัตถุในวัดที่ชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด จนวัดโมลีโลกยารามเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เชิดหน้าชูตา ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2463 สิริอายุรวม 68 ปี

หลวงพ่อเงินสร้างวัตถุมงคลมากมาย เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใส แต่ที่มีความโดดเด่นที่สุด คือ "พระนาคปรกใบมะขาม" ที่สร้างเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในโอกาสอายุครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2456  เนื่องด้วยท่านได้นำเอาตะกรุดทองคำ 2 ดอก จาก 3 ดอกที่ท่านคาดเอวมาตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่เมือง พระตะบอง แต่ละดอกน้ำหนักถึง 20 บาท ให้ลูกศิษย์นำไปเป็นมวลสารในการจัดสร้างและผสมด้วยทองแดงเพื่อให้เนื้อแข็งขึ้น ทำให้พระนาคปรกใบมะขามของท่านมีสีออกไปทางสีนากหรือสีทองเค  

พระนาคปรกใบมะขาม หลวงพ่อเงิน มีขนาดความกว้างประมาณ 0.5 ซม. และสูง 1.4 ซม. มีพุทธศิลปะสมัยลพบุรี ด้านหน้าเป็นองค์พระปฏิมากร ประทับนั่ง แสดงปางสมาธิราบ มีพญานาค 7 เศียร ขดเป็นพุทธบัลลังก์ 3 ชั้น แผ่พังพานเหนือพระเศียรขององค์พระ ด้านหลัง พื้นเรียบ จารึกอักขระขอมจาร 4 ตัว คือ "นะทรหด" 2 ตัว และ "อุณาโลม" 2 ตัว อยู่ด้านบนและด้านล่าง

แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่ค่อยจะได้พบเห็นกันนัก ส่วนหนึ่งอาจมาจากผู้ที่มีไว้สักการะต่างก็หวงแหนยิ่งนักครับผม