กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ กับการเดินหน้าจริงจังในการแก้ไขปัญหา “ธุรกิจขายตรง-สินค้าออนไลน์” ที่ขนาดนายกรัฐมนตรีหญิง “แพทองธาร ชินวัตร” เอ่ยปากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส และแจ้งความได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เร่งกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความรู้กับประชาชนเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เร่งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย ไม่ให้มีการนำสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาจำหน่ายในระบบของการขายตรงหรือการขายออนไลน์ และให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ และกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจลักษณะแชร์ลูกโซ่ขึ้นอีก
เพราะเหตุการณ์แบบนี้จะมีประชาชนโดนหลอกลวงเป็นจำนวนมาก บางคนเอาเงินเก็บมาทั้งชีวิตมาลงทุน หรือไปกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุน สุดท้ายโดนโกงถึงขนาดหมดเนื้อหมดตัว ร้ายแรงถึงกับฆ่าตัวตายก็มี
ซึ่ง “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมารับลูกทันที โดย “คดีธุรกิจขายตรง บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด” กระทรวงการคลังจะเข้าไปตรวจสอบ และกำหนดมาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดการทำธุรกิจลักษณะแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้น โดยกระทรวงการคลัง จะเข้าไปดูว่าเข้าข่าย ผิดมาตรา 341- 342 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ส่วนกฎหมายที่เคยออกไว้ และเข้าข่ายในลักษณะเช่นนี้ ได้มีการออกกฎหมายไว้เมื่อปี 2527 คือ พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งต้องดูว่า เข้าลักษณะ 3 ประการ คือ 1.เป็นการโฆษณา ให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรับรู้ ,2.จ่ายผลตอบแทนที่สูงกว่า หากมีลักษณะการกู้ยืมเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่สถาบันการเงินคิด และ3.เข้าเงื่อนไขการนำเงินจากคนอื่น เพื่อมาจ่ายหมุนเวียน ให้กับผู้ที่ให้การกู้ยืม และกิจการที่ประกอบนั้น ชอบด้วยกฎหมาย และผลประโยชน์ที่ได้จากการประกอบการมีเพียงพอที่สามารถนำมาจ่ายได้ ดังนั้นจะต้องดูว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะพิจารณา โดยกระทรวงการคลังจะติดตามว่า การแก้ไขจะมีผลอย่างไร เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น
และเพื่อให้รู้เท่าทันกับ “ธุรกิจขายตรง-สินค้าออนไลน์” สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ได้พูดคุยกับ “ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า เป็นรูปแบบ "สร้างแบรนด์บุคคล (Personal Branding)" เกิดภาพจดจำแล้วทำการตลาดให้ลูกค้ารู้สึกได้เปรียบแจกของกำนัลมาก ๆ โดยปัจจุบันขายของออนไลน์ไม่มีการกำกับจากหน่วยงานรัฐมากทำให้คนทั่วไปตั้งเพจเว็บไซต์กันง่ายแล้วหากลยุทธ์สร้างตัวตน "ด้วยคาแรกเตอร์ไม่เหมือนใคร" สร้างการจดจำให้โดดเด่นเกิดการรับรู้ได้เร็ว สังเกตจาก "แม่ค้าออนไลน์บางคน" มักมีคาแรกเตอร์โวยวาย หรือแสดงลีลาไลฟ์ขายสินค้าสนุกสนาน สิ่งนี้กลุ่มเป้าหมาย "มักชื่นชอบรู้สึกดีกับสินค้า" จะเริ่มสนับสนุนเกิดการภักดีกับแบรนด์ต่อให้ใครขายสินค้าชนิดเดียวกันเกิดขึ้นใหม่ "กลุ่มเป้าหมาย" ก็จะเลือกซื้อสินค้าของเราอยู่ดี
ประการต่อมา "การสร้างความน่าเชื่อถือ" ด้วยการเปิดร้านค้าบนออนไลน์ใหม่มักมีคนติดตามน้อยอยู่แล้ว ทำให้บางคนต้องสร้างความน่าเชื่อถือกับคนภายนอกเสริม เช่น การออกงานการกุศลหรือการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือคนยากจนผู้ด้อยโอกาส "สร้างแบรนด์ตัวตน" เพื่อให้ประชาชนเกิดความศรัทธา สิ่งนี้ล้วนเป็นเทคนิคการขายของผ่านออนไลน์ สร้างแรงจูงใจอันเป็นกลยุทธ์การตลาดแทบทั้งสิ้นแล้วยิ่งหาก "มิจฉาชีพ" จัดโปรโมชันเข้ามาช่วยเสริมอย่างเช่น ขายของถูกกว่าตลาด มีของแถมแจก ด้วยกำหนดเวลาจะเร่งการตัดสินใจปิดการขายได้เร็วขึ้น
"สูตรกลยุทธ์การตลาดนี้ใช้กันมานาน 20 ปี เพียงแค่เมื่อก่อนใช้กับสินค้าราคาถูก แต่ปัจจุบันพัฒนามาจนหยิบยกสินค้าหรูราคาแพงมาร่วมรายการขายด้วยอย่างกรณีทองที่เป็นข่าวก็จัดโปรโมชันลด แจก แถม กระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อได้เร็ว เพราะด้วยหลายคนรู้สึกว่าเจ้าของร้านน่าเชื่อถือแล้วทองก็น่าจะมีคุณภาพ"
ขณะที่ด้านกฎหมาย “คมเพชญ จันปุ่ม” ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน กล่าวว่า ปัจจุบันซื้อของออนไลน์หลายคนมักเจอคนขายมีเจตนาไม่สุจริต ทั้งสั่งซื้อไม่ได้สินค้า หรือได้ของปลอม ของไม่ตรงปก ดำเนินคดีกันเกิดขึ้นมากมาย ตามกฎหมาย "ผู้ขายมีเจตนาไม่สุจริตมักมีความผิดฉ้อโกง" ตาม ป.อาญา ม.341 ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความเท็จ มีโทษคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หากผู้เสียหายรู้ตัวให้รีบแจ้งความใน 3 เดือน แต่หาก "หลอกลวงประชาชนลักษณะวงกว้าง" อาจเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชนตาม ป.อาญา ม.343 ถ้าทำผิดตาม ม.341 แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท มีอายุความ 10 ปี
เช่นนี้หาก “ประชาชนถูกหลอกลวงจากการขายของออนไลน์” เบื้องต้นต้องรวบรวมหน้าโปรไฟล์ของร้านค้าลิงก์ URL ของเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่โพสต์ประกาศขายสินค้านั้น รวมถึงเก็บข้อมูลบันทึกการสนทนาข้อความที่คุยรายละเอียดในการซื้อของออนไลน์ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร. และเลขบัญชีของร้านค้า ทั้งหลักฐานการโอนเงินสลิปโอนเงิน ที่มีการจ่ายค่าสินค้าเพื่อแจ้งความกับตำรวจท้องที่ดำเนินคดีแล้วตำรวจจะตรวจเลขบัญชีว่าเจ้าของบัญชีเป็นใครมีการเคลื่อนไหวบัญชีใด และออกหมายเรียกมาสอบปากคำ ถ้ามาแล้ว "ตกลงกันได้ก็ไกล่เกลี่ยคืนเงิน" แต่หากตกลงกันไม่ได้ หรือไม่มาตามหมายก็ส่งสำนวนให้อัยการฟ้องศาล ซึ่งถ้าผู้เสียหายจะดำเนินการเองก็ทำได้ "แต่กรณีมีผู้เสียหายหลายคนไม่แนะนำฟ้องเอง" เพราะกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน "เจ้าหน้าที่รัฐ" มีความชำนาญมีอำนาจตามกฎหมายในการเก็บหลักฐานได้ดีกว่า ป้องกันถูกยกฟ้องที่จะส่งผลต่อรูปคดีของผู้อื่นด้วย
ศึกษาให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจลงทุน! เงินทองไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ถ้าเราไม่ลงมือทำ!!