เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ 18 ต.ค.67 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ชาวอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกันตักบาตรเทโว หรือเรียกกันเต็มๆ พิธีตักบาตรเทโวโรหนะ ด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวต้มหาง น้ำดื่ม ส้มเขียวหวาน เพื่อสืบสานประเพณีวันออกพรรษา ณ วัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พระวชิรคุณากร รองเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เจ้าอาวาสวัดสัตหีบ นำขบวนสงฆ์  ที่จำพรรษาในวัดออกรับบิณฑบาตจากลานอเนกประสงค์วัดสัตหีบ ไปโดยรอบตลาดสัตหีบ โดยมีชาวพุทธศาสนิกชนเดินทางมาร่วมทำบุญตักบาตรกันจำนวนมาก

สำหรับประเพณี ตักบาตรเทโว ย่อมาจากคำว่า เทโวโรหนะ ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจาก เทวโลก หมายถึงการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นบิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้า แล้วทรงปรารถนาจะสนองพระคุณมารดา ซึ่งหลังประสูติพระองค์ ได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้น ในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์ จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่ง

ในการตักบาตรเทโว วัดและชาวพุทธศาสนิกชนจะทำกันในวันออกพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ทั้งนี้ แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัด และทางชาวบ้าน พิธีที่ทำนั้นทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อนหรือคานหาม มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคนลากล้อเลื่อนไปช้า ๆ นำหน้าพระสงฆ์ สามเณร ซึ่งถือบาตรเดินเรียงไปตามลำดับ โดยพุทธศาสนิกชนต่างก็นำข้าว อาหารหวานคาว มาเรียงรายกันอยู่เป็นแถวตามแนวทางที่รถบุษบกเคลื่อนผ่าน เพื่อคอยตักบาตร ส่วนอาหารที่นิยมตักในวันออกพรรษา นอกจาก อาหารคาวหวานแล้ว ก็จะมีข้าวต้มลูกโยน ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า ในครั้งนั้นผู้คนรอใส่บาตรกันแออัดมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไม่ถึงพระ จึงใช้ข้าวก่อ หรือปั้นโยนลงบาตร ซึ่งในปัจจุบันที่เรารู้จักก็คือข้าวต้มหาง