ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ทหารยั่งยืนเพราะมีศักดินา สังคมไทยเป็นสังคมศักดินา ทหารจึงอยู่คู่สังคมไทยตลอดมา
เจ้านายของขจรก้าวหน้าในอาชีพราชการเป็นอย่างดี จากที่เป็นแค่นาวาอากาศโทในปีแรกที่ขจรทำงานด้วย ไม่ถึงสิบปีก็ติดยศพลอากาศตรี จนกระทั่งใน พ.ศ. 2534 ที่มีรัฐประหารไล่รัฐบาลบุฟเฟต์คาบิเนตของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เจ้านายของขจรก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสมาชิกตามลำดับ การได้ติดตามนายทหารระดับ “บิ๊ก” ทำให้เขาทราบว่า นายทหารเหล่านี้ “เขาคิดและทำอะไรกัน” แม้จะเป็นเพียงการสังเกตการณ์เพียงภายนอก แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนกับบรรดาพนักงานขับรถและคนใกลิชิดกับบิ๊ก ๆ เหล่านั้น ก็ทำให้ขจรมองเห็นว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งบิ๊ก ๆ ของบิ๊ก ๆ ทั้งหลายนี้ ก็ด้วยการอาศัย “เจ้านายและพรรคพวก” ทั้งสิ้น ซึ่งต่อมาเมื่อเขาได้แต่งงานและได้ฟังความคิดต่าง ๆ ของภรรยา ก็ทำให้เขาทราบว่านี่คือ “ศักดินา” คือระบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน ในแบบ “เจ้ากับไพร่” หรือ “นายกับบ่าว” นั่นเอง
ใกล้บ้านเจ้านายของเขาเป็นตลาดเก่ามีร้านค้าต่าง ๆ ตั้งอยู่มากมาย ระหว่างรอเจ้านายเขามักจะไปเดินเล่นหรือหาซื้ออะไรกินเป็นประจำ และได้ไปติดใจแม่ค้าขายเสื้อผ้าคนหนึ่ง ซึ่งบางทีเขาก็เอาเครื่องแบบเก่า ๆ ไปฝากขาย เพียงเพื่อจะได้แวะเวียนไปพูดคุยกับแม่ค้าคนนี้ แต่ก็ขายยากเพราะผู้คนสมัยก่อนยังไม่นิยมเสื้อผ้ามือสอง จะมีก็แต่วัยรุ่นที่อยากโก้มาซื้อไปใส่บ้างนาน ๆ ครั้ง แต่ระหว่างที่รอเครื่องแบบเขาขายได้ เขาก็ได้แวะเวียนไปคุยอยู่กับแม่ค้าคนสวยนี้อยู่เป็นระยะ กระทั่งได้ขอแต่งงานในอีกสองปีต่อมา โดยฝ่ายหญิงบอกว่าไม่ได้แต่งเพราะความรักหรืออยากมีสามีอะไรแต่อย่างใดไม่ เพียงแค่อยากจะหาคนในเครื่องแบบมาคุ้มกันบรรดาจิ๊กโก๋ทั้งหลายที่ชอบแวะเวียนมาจีบเธอ จนถึงขั้นที่บางคนก็มาข่มขู่คุกคามว่าถ้าไม่ตกลงปลงใจจะมาทำร้าย จึงคิดว่าจ่าทหารอย่างขจรคงจะสร้างความน่าเกรงขามให้กับอันธพาลเหล่านั้นได้ ซึ่งก็เป็นจริงเพราะบรรดาจิ๊กโก๋และอันธพาลก็ไม่เห็นเข้ามาตอแยเธออีกหลังจากที่เธอแต่งงานกับเขาแล้ว
ภรรยาของเขาก็มีชีวิตที่ต่อสู้มาอย่างยากลำบาก เติบโตมาในชนบททางจังหวัดภาคเหนือ การศึกษาก็จบแค่มัธยมสามเช่นกัน เธอเป็นลูกกำพร้าต้องอาศัยอยู่กับป้าและลุง เธอตามเพื่อนมาทำงานในกรุงเทพฯ แรก ๆ ก็เป็นเด็กทำงานตามบ้าน พออายุได้ 18 ปีก็ไปทำงานโรงงาน ทำอยู่เกือบสิบปีก็ทนนายจ้างที่ชอบเอาเปรียบไม่ได้ รวมถึงสังคมคนงานที่ไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย รวมถึงภัยคุกคามทางเพศนั้นด้วย พอเธอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็ออกมาลงทุนเช่าแผงขายของ จนกระทั่งมาได้ขายเสื้อผ้าในตอนที่ขจรมาเจอเธอนั้น ระหว่างนั้นเธอก็พยายามหาทางเรียนต่อ จนสามารถสอบเทียบชั้นมัธยมหกและเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเปิดแถวหัวหมากได้ โดยเลือกเรียนในคณะรัฐศาสตร์ เพราะเธอเชื่อมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่า คนใหญ่คนโตในประเทศไทยล้วนแต่เป็นข้าราชการ จึงอยากรู้ว่าทำไมคนพวกนี้จึงมีอำนาจและได้ปกครองประเทศไทยเรื่อยมา
การที่ตกลงใจแต่งงานกับขจรก็มีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งด้วยว่าอยากใกล้ชิดผู้มีอำนาจ แม้ว่าขจรจะไม่ใช่ทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่การที่เขาได้มาทำงานกับนายทหารระดับบิ๊ก ก็น่าจะทำให้เขามีมุมมองหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากนายทหารเหล่านั้นบ้างพอสมควร ตอนแรกขจรก็รู้เบื้องหลังเรื่องนี้ แต่ก็สงสัยว่าทำไมภรรยาของเขาจึงสนใจว่าเขาไปไหนมาไหนและทำอะไรกับเจ้านายบ้าง เพียงแต่คิดไปว่าคงเป็นนิสัยของคนเป็นเมียโดยทั่วไป ที่อยากรู้ว่าผัวไปทำอะไรที่ไหนอยู่กับใครบ้าง แต่แล้ววันหนึ่งภรรยาของเขาก็พูดออกมาเองว่า ทำไมจึงชอบคุยเรื่องของเจ้านายกับเขาอยู่ทุกวัน โดยเธออ้างง่าย ๆ ว่า อยากรู้ว่าที่เรียนมากับเรื่องจริง ๆ นั้นเหมือนกันหรือไม่
แรก ๆ เขาก็รำคาญและหงุดหงิดมาก ที่ต้องมารายงานหรือเล่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเจ้านายให้เธอฟัง แต่พอเข้าใจความต้องการของเธอแล้วก็ให้ความร่วมมือด้วยดี เธอบอกว่าการที่ทหารเหล่านี้ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน คือสาเหตุสำคัญของการ “ถ่วงรั้ง” ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ขจรเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองก็ได้แต่นิ่งฟัง แม้ว่าที่เธอพูดออกมาส่วนใหญ่น่าจะมาจากตำราหรือสิ่งที่อาจารย์สอน แต่พอมาเป็นภาษาของเธอแล้วมันก็น่าฟังมากขึ้น ที่คงจะเป็นเพราะเธอพูดออกมาจากใจของคนในระดับและแบบของชีวิตเดียวกัน เธอไม่ได้ด่าว่าหรือพูดด้วยความเกลียดชังทหาร เธอใช้ศัพท์สูงอย่างหนึ่งที่เธอคงจะเรียนมาอีกเช่นกัน คือเธอพูดถึง “ระบบ” เธอบอกว่าศักดินานี้เป็นระบบที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้น แล้วหล่อหลอมรวมถึงที่โน้มน้าวให้ราษฎรยอมรับและเชื่อฟัง เพื่อให้ชนชั้นปกครองอยู่เหนือหรือ “ข้างบน” ในขณะที่ราษฎรนั้นอยู่ใต้อำนาจหรือ “ข้างล่าง” ซึ่งประเทศไทยก็ปกครองในระบบนี้มาโดยตลอด แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เราก็เป็นประชาธิปไตยแบบพิเศษ ที่พวกชนชั้นปกครองให้เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
เจ้านายของขจรเกษียณไปเมื่อปีน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 แต่เจ้านายของขจรก็ยังไม่ทอดทิ้งลูกน้อง เจ้านายของขจรชอบส่งเสริมให้ลูกน้องของเขาหารายได้พิเศษ ที่ทำอยู่เสมอก็คือเอาไปฝากฝังทำงานกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ รวมถึงนักการเมือง งานชนิดนี้เรียกกันทั่วไปว่า “ผู้ติดตาม” หรือ “เจ้าหน้าที่อารักขาส่วนตัว” ซึ่งบางทีผู้ใหญ่และนักการเมืองเหล่านั้นก็ไม่ต้องการ แต่ด้วยความเกรงใจก็รับไว้ ทั้งนี้ก็คือต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนให้กับทหารผู้น้อยเหล่านี้ โดยที่เจ้านายของขจรก่อนที่จะเกษียณก็ได้พาขจรไปฝากกับนักการเมืองท้องถิ่นในระดับจังหวัดคนหนึ่ง ซึ่งนักการเมืองคนนั้นก็รับและ “จ่ายเงิน” ด้วยดี แต่พอผ่านไปสักปีหนึ่งก็ไม่จ่ายค่าตอบแทนรายเดือนนั้นให้อีก โดยบอกว่ามีคนอื่นฝากคนมาทำหน้าที่นี้แทนแล้ว ซึ่งก็ทำให้ขจรได้รู้อีกด้วยว่า อำนาจนั้นมีเจริญแล้วก็มีเสื่อม เมื่อสิ้นยศหมดวาสนา อำนาจหรือความใหญ่โตที่เคยมีก็หมดสิ้นไปได้ แม้แต่นายทหารใหญ่ที่นักการเมืองก็ยังยอมก้มหัวให้ ก็ไม่เหลืออะไรเมื่อหมดตำแหน่งนั้น
ขจรบอกว่าเขาโชคดีที่เขาสนใจเรื่องการก่อสร้างมาตั้งแต่เด็ก ๆ อาจจะเป็นด้วยพ่อของเขาที่ต้องมา “ใช้แรงงาน” ถูกเกณฑ์มาทำโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในฐานะทหารฝ่ายกบฏที่แพ้การศึก ซึ่งเขาก็เคยต้องตามพ่อไปทำงานเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ รวมถึงที่พ่อของเขาทั้งก่อนและหลังเกษียณก็แบ่งเวลาไปรับงานรับเหมาต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้านอยู่ด้วย พอเขาจะเกษียณบ้างก็เลยนึกถึงพ่อแล้วคิดอยากทำอาชีพแบบที่พ่อเคยทำนั้น อย่างที่ได้มารับต่อเติมซ่อมแซมบ้านของผมนี้ และได้ “สนทนาธรรม” กันอย่างลึกซึ้งดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่อง “ทหารกับศักดินา” ในมุมที่มองจากทั้ง “ข้างล่าง” และ “ข้างบน” คือจากสายตาของนายทหารชั้นผู้น้อยอย่างขจร ที่ได้ทำงานกับนายทหารใหญ่ที่กุมชะตาของประเทศอยู่ช่วงหนึ่งนี้
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เคยสรุปพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทยว่า คนไทยเป็นพวกที่ “เฉื่อยชาทางการเมือง” คือไม่ค่อยสนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแสดงออกในกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ เช่น เวลาที่ไปเลือกตั้งก็ไปใช้สิทธิกันน้อย ต้องจูงใจด้วยอามิสสินจ้าง ทำให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง หรือต้องมีองค์กรอิสระมาคอยตรวจสอบนักการเมือง เพราะประชาชนไม่สนใจที่จะเข้ามาใช้อำนาจนี้ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของขจรแล้ว แนวคิดเหล่านั้นคงจะต้องปรับเปลี่ยนไป เพราะถ้าเราเปิดรับฟังและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงออก เราก็จะได้เห็นว่าคนไทยที่อยากจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ยังมีอีกมาก
สังคมเก่าเรียกทหารว่า “รั้วของชาติ” ซึ่งเราจะต้องมาช่วยกันคิดอุด “รอยรั่ว” หรือปัญหาต่าง ๆ ที่ศักดินาเหล่านั้นได้ฝากฝังไว้ ให้ “รั้วบ้าน” ของเรานี้มั่นคงแข็งแรงขึ้นด้วยราษฎรทั้งหลายต่อไป