ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
การตระหนักรู้ในสัจธรรมของชีวิตถือเป็นสิ่งสำคัญและสูงค่ายิ่ง..มันคือความลึกซึ้งแห่งจิตวิญญาณที่สร้างสรรค์ให้ตัวตนแห่งมนุษย์ในทุกผู้ทุกนามได้ประจักษ์ถึงรูปรอยอันผันผวนของจิตวิญญาณ และลมหายใจอันสลับซับซ้อนของความมุ่งหวัง...หลายๆขณะสัญญะแห่งฤดูกาลย่อมสร้างสัมปชัญญะคืนสติให้แก่เราทุกคน จนสามารถที่จะคิดฝันและตีความรหัสนัยอันวกวนของโลกได้ ผ่านการตีความอันแยบยลของพันธชีวิตที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน..เหล่านี้จึ่งคือความหมายในความหมาย ที่สั่นสะเทือนต่อการรับรู้ของโครงสร้างแห่งปัญญาญาณ ของบุคคลในแต่ละบุคคลเสมอ..!
“ชีวิตของท่านทั้งหลายดั่งขี้เมางมงาย/แต่วันเวลานั้นไม่เคยหยุดนิ่ง/เมื่อท่านถูกกลบฝังอยู่ภายใต้พงหญ้ารกเรื้อ/แม้แต่เเสงจันทร์ก็สาดส่องลงไปไม่ถึง/เมื่อกระดาษและเลือดเนื้อผุพังกระจัดกระจาย/และเมื่อดวงวิญญาณสูญสลายไป/เมื่อนั้นท่านจะมีฟันไว้กัดเหล็กอีกละหรือ/ท่านจะท่องบ่นคัมภีร์เต๋าอย่างไรได้..”
สัจจะของชีวิตดั่งนี้..คือการรับรู้ในส่วนลึกด้านใน ผ่านการปลุกตื่นของการหยั่งเห็นในตัวตน ตัวตนที่ยื่นความรู้สึกออกไปเบื้องหน้าเผื่อก่อผัสสะอันถาวรสมบูรณ์ผ่านจิตตปัญญา..อันซ้อนซ้ำ..เนื่องเพราะโลกมักกำหนดชะตาชีวิตให้ต้องเดิมพันกับห้วงเวลาของการดำรงอยู่อย่างมีผัสสะอันแรงกล้าในนามแห่งความเป็นอิสระเหนือภาวะอันสลับซับซ้อนใดๆเสมอ...
“วันนี้ข้าพเจ้ามานั่งที่หน้าผา/นั่งอยู่เนิ่นนานจนสายหมอกจางคลาย/สายน้ำในลำธารใสเย็น ทอดยาวเหมือนเส้นไหม/ณ ที่ห่างไกล ยอดเขาสีเขียวตระหง่านซ้ำ/เมฆขาวแสงสายัณห์ลูบไล้อ้อยอิ่ง/ดวงจันทร์ปรากฏขึ้น โคมฟ้ายามค่ำโคจรคล้อยเคลื่อน/กลายเป็นอิสระจากฝุ่นละอองและรอยแปดเปื้อน/จะมีความกังวลใดมารบกวนข้าพเจ้าอีก..”
ภาวะหยั่งรู้และแนบชิดกับธรรมชาติอย่างงดงามและล้ำลึกภายใต้สัมผัสแห่งจิตใจอันจดจ่อนั้น ..ถือเป็นการก่อเกิดความทรงจำอันวิจิตรบรรจงในวังวนแห่งปรารถนา มันคือสมาธิจิตอันเยียบเย็นที่แฝงกายร่างอยู่เหนือกาลเวลา..ซ่อนราคะแห่งจิตตปัญญา..ให้ไปอยู่เหนือความฝันบนซากร่างอันหน่วงหนักของมวลมายาทั้งปวง..
“ข้าพเจ้านอนเพียงลำพังใต้เงื้อมผา/ที่ซึ่งละอองหมอกอบอวลจนยามสาย/ถึงแม้ที่อยู่อาศัยจะมืดครึ้ม/แต่จิตใจกลับโปร่งใสอิสระ/ในความฝันข้าพเจ้าท่องเที่ยวผ่านประตูสวรรค์/ดวงวิญญาณเดินข้ามสะพานหิน/ข้าพเจ้าได้สละทุกสิ่งซึ่งเป็นเครื่องถ่วงหนัก/โกกโกก โกกโกก เสียงน้ำเต้าแห้งกระทบกิ่งไม้..”
การตามหาที่อันเหมาะสมกับการใช้ชีวิต เป็นสายทางแห่งการแสวงหาอันเปี่ยมเต็มไปด้วยความหวัง..มนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่แห่งหัวใจไว้อิงอาศัยในโลกเร้นลึกของตัวตน ทั้งเพื่อการผ่อนคลาย ..เพื่อการยึดโยงทางสมาธิจิต และ เพื่อ การเกิดพุทธิปัญญาเพื่อจะจัดการแผ้วถาง..วิถีอันตีบตันและมืดมนทั้งปวง..
“ข้าพเจ้าเสาะแสวงหาสถานที่อาศัย/ขุนเขาเทียนไถเป็นที่เหมาะสม/เสียงลิงค่างวิเวกร้องเมื่อสายเย็นปกคลุม/ประตูฟางหญ้าเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับหินผา/ ข้าพเจ้าเก็บใบไม้มามุงหลังคากระท่อมในป่าสน/ขุดแอ่งน้ำและลำธารเล็กๆ ณ ที่มีตาน้ำ/บัดนี้ข้าพเจ้าคุ้นเคยกับชีวิตที่สันโดษ/เก็บเฟินกิน ชีวิตก็สามารถผ่านพ้นวันเวลาที่หลงเหลือ..”
เมื่อผ่านพ้นวันเวลาที่หลงเหลือ ชีวิตย่อมมีโอกาสที่จะพบดินแดนแห่งศานติสุข มันคือนิวาสถานแห่งการรองรับดวงจิตอันใสสะอาดและบริสุทธิ์ พื้นที่นั้นย่อมมิต่างไปจากดิน แดนศักดิ์สิทธิ์อันเสรี แนบเนาด้วยรสชาติของพหุปัญญา การรู้จักเปรียบเทียบระหว่างเนื้อในอันล้ำลึก กับแสงสว่างทางปัญญาที่ลุกโชนอยู่เบื้องหน้า..
“ข้าพเจ้าเหม่อมองภูเขาเทียนไถซึ่งอยู่ไกลสุดสายตา/โดดเดี่ยวตระหง่านอยู่เหนือเทือกเขาสลับซับซ้อน/ไผ่และสนเอียงลู่ก่อนเกิดบทเพลงในสายลม/ระลอกคลื่นพลิ้วพรายในแสงจันทร์/ข้าพเจ้าแลดูแผ่นพื้นสีขาวเบื้องล่าง/และถกปรัชญากับหมู่เมฆขาว/ในป่าพงรกร้างย่อมมีป่าเขาและท้องทะเล/ทว่าข้าพเจ้าปรารถนาจะมีเพื่อนร่วมทางแสวงหา..”
..ปฐมบทแห่งชีวิตและบริบทแห่งความหมายของตัวตนของคนคนหนึ่ง ย่อมเป็นปริศนาแห่งใจที่พลิกคว้ำพลิกหงายเหนือคาดคิด มันคือความจริงที่เหลื่อมซ้อนกับมายาคติ..มีพลังประหลาดลึกล้ำต่อความคิดแห่งความเชื่อมั่นศรัทธาเหนือเจตจำนงของความใส่ใจ..
“เมื่อผู้คนแลเห็นบุรุษแห่งขุนเขายะเยือก/เขาล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่คือเจ้าคนบ้า”/ไม่มีใครอยากมองหน้ามันซ้ำสอง/ห่อหุ้มร่างด้วยผ้าขี้ริ้ว/สิ่งที่เราพูดมันก็ไม่เข้าใจ/คำที่มันกล่าวเราก็ไม่รู้เรื่อง/.. “ถ้อยคำของพวกท่านล้วนไม่น่าใส่ใจ/ลองไปเยี่ยมเยือนขุนเขายะเยือกดูสักครั้ง”/ “ขุนเขายะเยือก” (Cold Mountain).. ปรัชญากวีอันงดงามและยิ่งใหญ่ของ “หานซาน” ถอดความเป็นภาษาไทยอย่างเลิศล้ำ โดยนักแปล นักคิด..ในวิถีตะวันออกอันเชี่ยวชาญของไทย “พจนา จันทรสันติ” โดยแปลและถอดความมาจากฉบับภาษาอังกฤษ “Cold Mountain” โดย “เบอร์ตัน วัตสัน” หนังสือนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2525..42 ปีล่วงมาแล้ว..
“หานซาน” เป็นกวีนักพรตเมื่อยุคสมัยพันปีก่อน..อาศัยอยู่บนขุนเขาเทียนไถซึ่งมีหิมะปกคลุมอยู่ชั่วนาตาปี เป็นตำนานอันลือเลื่องที่เล่าขานกันสืบต่อมา..เหตุที่ทำให้ “หานซาน” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมาเนิ่นนานนั้น ก็ด้วยบุคลิกภาพอันประหลาดล้ำของท่าน ซึ่งแต่งกายด้วยเสื้อผ้า เนื้อหยาบ เก่าแก่ และฉีกขาด ผมยุ่งเป็นกระเซิง และ ชอบยืนหัวเราะแบบปล่อยตัว ไม่สำรวม..แต่นั่นคือ บรรยากาศแห่งอิสรภาพ และ ความสงบล้ำที่แผ่ออกมาจากจิตใจของท่าน ซึ่งเสมือนว่ามีพลังที่แปลกประหลาด ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า รอยยิ้ม ดวงตา ซึ่งต่างล้วนมีพลังชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้คนไม่กล้าที่จะหัวเราะเยาะ ...ด้วยในใต้ล่างแห่งร่างกายของ “คนบ้าคนนี้”..ล้วนปกคลุมไปด้วย..ความรู้สึกของ “ปราชญ์ผู้อยู่เหนือโลก” โดยแท้..
“สำหรับตัวข้าพเจ้าย่อมพึงพอใจอยู่ในวิถีทุกขณะ/ในท่ามกลาง เถาวัลย์ หมอก และ ถ้ำผา/ณ ที่นี้ ในป่าพงรกชัฏ ข้าพเจ้ามีวิญญาณอิสระ/ท่องเที่ยวพเนจรไปกับเมฆขาว มิตรร่วมทาง/หนทางนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้นำไปสู่โลกเบื้องล่าง/เมื่อไร้ใจ ย่อมไร้ความคิดคำนึง/ยามค่ำคืน ข้าพเจ้านั่งบนแท่นหินเพียงลำพัง/ในขณะที่ดวงจันทร์กลมโตค่อยโผล่พ้นขุนเขายะเยือก”
สายทางชีวิตของ “หานซาน” นับว่าแปลกต่างและอัศจรรย์ยิ่ง..มันคือเส้นทางเฉพาะอันโดดเดี่ยว แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสแห่งการเรียนรู้ชีวิต..เพื่อก้าวต่อๆไปแห่งอนาคต..
“ถนนสายที่นำไปสู่ขุนเขายะเยือกช่างมหัศจรรย์/ไร้ร่องรอยของผู้สัญจรผ่านทาง/ในหุบเขาลมแรงหนทางคดเคี้ยวลำบาก/ยอดเขาสูงชันจนไม่อาจประมาณวัด/มวลตฤณชาติร่ำไห้จนกลายเป็นหยาดน้ำค้างฉ่ำ/หมู่ต้นสนร้องอึงอลในสายลม/และถ้าต้องหลงวนอยู่ใในวาระสรุป.. “หานซาน” ได้เปรียบเปรยว่า..นัยแห่งชีวิตนั้นเป็นประหนึ่ง “ดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง” ที่ส่องสว่าง..แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังเน้นย้ำว่า..คำเปรียบเปรยนี้ ..ยังดูไม่เหมาะสมนัก..
“จิตข้าพเจ้าเหมือนดวงจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง/ส่องสว่างไสวเหนือสระมรกต/แต่ทว่า คำเปรียบเปรยนี้ยังดูไม่เหมาะสม/ลองบอกสิว่า..ข้าพเจ้าจะอธิบายอย่างไรดี” ในหนทาง/ท่านจะต้องถามเงาตนเองว่า .. “จะรุดต่อไปในหนไหน ..”
นี่คือปราชญาชีวิตอันแสนเรียบง่าย หยั่งรู้ในผลึกชีวิตของคนผู้หนึ่งแล้วแปรค่าออกเดินมาเป็นอุทาหรณ์สอนวิสัย..มันคือมรดกทางวัฒนธรรมความคิดของกาลเวลา หยั่งเห็น หยั่งรู้ ด้วยสัมพันธภาพแห่งจิตวิญญาณเหนือแบบแผนอันครัดเคร่ง..มันคือความเรียบง่ายแห่งปรากฏการณ์สำนึก..แผ่วเบาและกระซิบกระซาบอยู่ในลมหายใจที่ไหวเคลื่ิอน..จากอดีตกาลสู่ปัจจุบันขณะ ณ ยามนั้น...
“บิดามารดาทิ้งมรดกไว้ให้/มากพอที่ข้าพเจ้าไม่ต้องอิจฉาผืนนาของใคร/กึกกัก กึกกัก เสียงภรรยาทอผ้า/เจี๊ยวจ๊าว เจี๊ยวจ๊าว เสียงลูกๆเล่น/ข้าพเจ้าปรบมือ เร่งเร้ากลีบบุปผาไหว/ใครเล่าจะเห็นคุณค่าแห่งชีวิตเรียบง่ายเช่นนี้/ ณ ที่นี้ เพียงมีคนตัดฟืนผ่านมาในบางครั้ง..”
จากบทเริ่มต้นอันเรียบง่าย...ดั่งนั้น..!..ด้วยเหตุนี้ “หานซาน” จึงเขียนถ้อยคำเหล่านี้ไว้..ถ้อยคำที่ไม่มีใครเชื่อถือ/น้ำผึ้งนั้นหวาน คนย่อมรักรส/แต่ยานั้นขื่นขมยากจะกลืนกิน/สิ่งประเทืองอารมณ์ย่อมก่อให้เกิดความพึงพอใจ/สิ่งที่ขัดกับความเชื่อย่อมกระตุ้นให้โกรธขึ้ง/แม้กระนั้น ข้าพเจ้าอยากชี้ชวนให้ท่านลองมองดูหุ่นไม้/ซึ่งหักพังหลังถูกชักเชิดอยู่บนเวที
นับแต่โบราณ ..คำถามสำคัญหนึ่งที่ไถ่ถามกันผ่านความมีอยู่ของกวีและความเป็นกวีแห่ง “ขุนเขายะเยือก” ยังดำรงอยู่และดำเนินมาอย่างใคร่ครวญและถ่อสุภาพ..มันคือความสะท้านที่เชื่อมต่อระหว่างปัญญาญาณกับความโง่งมไร้สติ..มันคือพลังทางปัญญาที่เหมือนจะเปราะบางแต่ไม่เคยอ่อนแอลง..แม้เมื่อใด..!
*ท่านมีบทกวีของ “หานซาน” อยู่ในบ้านแล้วหรือไม่../บทกวีเหล่านั้นยังประเสริฐกว่าพระสูตร/ลอกมันมา และแปะติดไว้บนม่าน/ที่ท่านอาจเหลือบอ่านได้นานนิตย์*
“ข้าพเจ้าเดินตามหนทางสู่ขุนเขายะเยือก/ทางสู่ขุนเขาที่ยาวไกลไม่รู้จักจบสิ้น/หุบเขาเป็นแนวยาวดารดาษด้วยหิน/สายน้ำกว้างฟากฝั่งรกครึ้มด้วยหญ้า/มีตะไคร่น้ำจับลื่น แม้ไร้ฝน/ ต้นสนถอนหายใจ แต่นั่นไม่ใช่แรงลม ใครเลยจะอาจสลัดพ้นพันธนาการของโลกนี้..และมานั่งอยู่กับข้าพเจ้าในท่ามกลาง..เมฆขาว”