เปิดหลักฐานทางโบราณคดีเมืองโบราณอู่ทอง ในนิทรรศการพิเศษ “บรรพชนคนอู่ทอง”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2567  เรื่อง “บรรพชนคนอู่ทอง” จัดแสดงโบราณวัตถุ 73 รายการ ที่พบจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ – ต้นประวัติศาสตร์ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และแหล่งโบราณในพื้นที่ใกล้เคียงและจังหวัดกาญจนบุรี นิทรรศการนำเสนอข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงถึงพัฒนาการของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รับอิทธิพลจากดินแดนภายนอกและพัฒนาเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตร์ คือสมัยทวารวดี ที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 8 หัวข้อ ประกอบด้วย

ตู้จัดแสดงที่ 1 ร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง

ตู้จัดแสดงที่ 2 และ 3 แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงภาชนะดินเผารูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาชนะอุทิศในหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,000 - 4,000 ปีมาแล้ว เช่น ภาชนะก้นกลม ภาชนะทรงพาน เป็นต้น

ตู้จัดแสดงที่ 4 แหล่งโบราณคดีบ้านหัวอุด อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นภาชนะอุทิศในหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,300 - 3,500 ปีมาแล้ว เช่น ภาชนะทรงพาน และหม้อสามขา เป็นต้น

ตู้จัดแสดงที่ 5 แหล่งโบราณคดีบ้านทะเลบก อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,000 - 4,200 ปีมาแล้ว ได้แก่ ขวานหินขัด ชิ้นส่วนหม้อสามขา และชิ้นส่วนภาชนะมีนม

ตู้จัดแสดงที่ 6 แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก อายุประมาณ 1,700 - 2,300 ปีมาแล้ว ได้แก่ ขันสำริด และกำไลสำริด

ตู้จัดแสดงที่ 7 แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย - ต้นประวัติศาสตร์ที่เมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีเนินพลับพลา ได้แก่ ขวานหินขัด ที่ประทับลาย ประติมากรรมปูนปั้น และโบราณวัตถุที่พบบริเวณสนามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ได้แก่ ลูกปัดแก้วมีตา ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ชิ้นส่วนพระพิมพ์ และเบี้ยกระดองเต่า ซึ่งมีอายุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงทวารวดี

ตู้จัดแสดงที่ 8 จัดแสดงโบราณวัตถุที่แสดงถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนภายนอก ได้แก่ จี้รูปสัตว์สองหัว และตุ้มหูแบบลิง ลิง โอ ซึ่งเป็นเครื่องประดับของกลุ่มคนในวัฒนธรรมซาหุญหรือซาหวิ่น (Sa Huynh) ซึ่งอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม กำหนดอายุในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สมัยเหล็ก ราวพุทธศตวรรษที่ 1 - 5 หรือประมาณ 2,000 - 2,500 ปีมาแล้ว

ขอเชิญชวนผู้สนใจไปชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “บรรพชนคนอู่ทอง” ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ณ ห้องนิทรรศการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดทำการวันพุธ - อาทิตย์ วันหยุดราชการพิเศษและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 – 16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท