องคมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่จังหวัดชัยนาทและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 จากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,047 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2567) และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานต่างๆ
คณะฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ จากผู้แทนกรมชลประทาน และการดำเนินโครงการโรงเรียนเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ โดยผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท จากนั้นเยี่ยมชมการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.50 เมตร มีช่องระบายน้ำขนาดกว้าง 12.50 เมตร 16 ช่อง ทางระบายน้ำฉุกเฉิน กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร ประโยชน์ของโครงการ ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างรวม 7.5 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าพลังสะอาดได้ 62.75 ล้านหน่วยต่อปี ระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำเสียและน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งรักษาระดับน้ำให้เหมาะสมกับการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และควบคุมและป้องกันอุทกภัยในแม่น้ำเจ้าพระยา
เขื่อนเจ้าพระยาเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้ศึกษาการควบคุมภาวะน้ำท่วมน้ำหลากในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา และจัดการชลประทานสำหรับพื้นที่ทำการเกษตร ในปี พ.ศ. 2445 คณะสำรวจของนาย เย โฮมัน วันเดอร์ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญการชลประทานชาวฮอลันดา อธิบดีกรมคลอง ได้เสนอให้มีการวางระบบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ให้มีปริมาณกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า “โครงการเจ้าพระยาใหญ่” โดยให้สร้างเขื่อนขวางลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท แต่ในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงเร่งปรับปรุงประเทศในหลายด้าน ไม่มีงบประมาณพอที่จะทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ได้ จึงค่อยๆ ทำทีละเล็กละน้อย จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีการนำโครงการเจ้าพระยาใหญ่ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง และเสนอโครงการต่อธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2492 ขอกู้เงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับในปี พ.ศ. 2491 ได้เกิดการขาดแคลนอาหารไปทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงสนับสนุนโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ธนาคารโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาความคุ้มค่าในการทำโครงการแล้วจึงอนุมัติ และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2495 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
ความเป็นมาของโครงการโรงเรียนเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้กรมส่งเสริมการเกษตรใช้กระบวนการโครงการโรงเรียนเกษตรกรเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเกษตร และในปี พ.ศ. 2542 กรมส่งเสริมการเกษตร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ โครงการส่งเสริมและพัฒนาชีวินทรีย์และโรงเรียนเกษตรกร เป็นโครงการในพระราชดำริ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการในพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ต่อมาจึงได้ใช้คำว่า “โครงการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ” ซึ่งมีโครงการโรงเรียนเกษตรกรบ้านหลั่น หมู่ 4 ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นโครงการโรงเรียนเกษตรกรในพระราชดำริ แห่งแรก โดยเป็นโรงเรียนที่เน้นเรื่องการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เป็นหลัก และดำเนินการขับเคลื่อนโครงการโดยการถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (Farmer Field School : FFS) ด้วยหลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated pest management : IPM) ภายใต้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเกษตร สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะ เดินทางไปยังโครงการคลองระบายน้ำบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานและเยี่ยมชมบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการคลองระบายน้ำบางบาล - บางไทร เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ความยาวประมาณ 22.5 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดคลองลัดเพิ่มความสามารถให้การระบายน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจากอำเภอบางบาล-อำเภอบางไทร เพื่อลดผลกระทบน้ำหลากที่เกาะเมืองอยุธยา และการท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภค-บริโภคได้จำนวน 15 ล้านลูกบาศก์เมตร
กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.