เลื่อนถกแก้ รธน.! "วิป"สองฝ่ายเห็นตรงกันกระชั้นชิดเกินไป เคาะเป็นปลายปี16-18 ธ.ค.67 โดยประมาณ ด้าน "วันนอร์" รับเรื่องไปหารือกับ "ปธ.วุฒิสภา" ต่อไป "พร้อมพงศ์" หอบหลักฐานเอาผิด "บิ๊กป้อม" ลาไปต่างประเทศ บินนอกหรู จี้สอบย่องเซ็นชื่อร่วมประชุมสภาฯ ส่อผิด ม.157 หรือไม่

    
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 ต.ค.67 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ภายหลัง สส.หารือความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เสร็จสิ้น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แจ้งผลการหารือกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กรณีวันประชุมสภาฯ ในสัปดาห์หน้า ว่า ประธานวิปทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมวันที่ 24-25 ต.ค. โดยในวันที่ 24 ต.ค.จะเป็นกระทู้ต่างๆ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล ขณะที่วันที่ 25 ต.ค.จะเป็นการพิจารณาญัตติต่างๆ ที่ค้างอยู่
    
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าหากพิจารณาในสมัยประชุมนี้จะเป็นการกระชั้นชิดเกินไป จึงต้องการจะพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยประชุมหน้า เบื้องต้นทางสภาฯ เห็นว่าวันที่ 16-18 ธ.ค.โดยประมาณ ซึ่งอยากให้นายวันมูหะมัดนอร์นำช่วงวันดังกล่าวไปหารือกับนายมงคล สุรัจจะ ประธานวุฒิสภา
    
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในสมัยหน้านั้น ตนจะได้หารือกับนายมงคลก่อนต่อ ซึ่งตอนนี้นายมงคลไม่อยู่ เนื่องจากมีภารกิจติดประชุมที่ต่างประเทศ เมื่อท่านกลับมาตนจะไปปรึกษาท่าน หากได้ผลเป็นอย่างไรจะเรียกวิปสามฝ่ายมาประชุมโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้ง และหากมีข้อกฎหมายที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา ก็สามารถนำเสนอก่อนประชุมได้
    
ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย  แถลงถึงการยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เร่งตรวจสอบพฤติกรรมของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  น่าจะกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงตามประมวลจริยธรรม สส.ใน 2 ประเด็น ว่า 1.กรณีพล.อ.ประวิตรลาไปต่างประเทศ บินหรู กินอยู่สบาย เดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งตนสงสัยว่าจะเป็นเครื่องบินของเจ้าสัวหรือไม่ หากใช่ก็จะเข้าข่ายรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งก็ขอให้คณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย อย่ามัวแต่พิจารณาเรื่องอื่น จนตอนนี้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าสภาฯ มวยล้มต้มคนดูหรือไม่ และจะเป็นการปกป้องพวกเดียวกันหรือไม่
    
2.กรณีพล.อ.ประวิตรลาประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งพบว่าวันที่ 3 ตุลาคม พล.อ.ประวิตรไม่ได้มีภารกิจพิเศษตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. ได้เแจ้งไว้ แต่กลับเป็นการไปทำบุญที่ภาคอีสาน ถามว่าไปทำบุญวันอื่นได้หรือไม่ เหตุใดจึงไปทำบุญในวันที่มีประชุมสภาฯ ส่วนวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร มาสภาฯ แต่ก็เป็นเพียงการเซ็นชื่อแล้วกลับบ้านทันที ลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นการจัดฉากหรือไม่ หากเป็นพนักงานเอกชนก็เหมือนเป็นการโกงบริษัท แต่เมื่อพล.อ.ประวิตรเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และ สส. จึงน่าจะผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ซึ่งตนจะได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.และกกต.ด้วย
    
“การมาสภาฯของพล.อ.ประวิตร ทั้ง 11 ครั้งไม่รวมครั้งที่ 12 คือเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาน่าจะมีปัญหาเช่นกัน โดยขอให้ตรวจสอบลายเซ็นทั้ง 11 ครั้งว่าเหมือนกับครั้งที่ 12 หรือไม่ รวมถึงขอให้ตรวจสอบด้วยว่าทั้ง 11 ครั้งมีคนนำเอกสารมาให้พล.อ.ประวิตรเซ็นหรือไม่ และมีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ ซึ่งก็จะเข้าข่ายเหมือนคดี สส.เสียบบัตรแทนกัน พฤติกรรมของพล.อ.ประวิตรเป็นการใช้สิทธิ์มากกว่าคนอื่นหรือไม่ ยืนยันว่าตนไม่ได้คิดจองเวรพล.อ.ประวิตรแต่อย่างไร แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม” นายพร้อมพงศ์ กล่าว 
    
ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ ทั้ง 14 คน ว่า ที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 21 ต.ค.จะนำร่างพ.ร.บ.ประชามติเข้าที่ประชุม ส่วนรายชื่อว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการร่วมบ้างต้องรอที่ประชุมถึงจะสามารถประกาศได้ว่าสว.ทั้ง 14 คน มีใครบ้าง
    
เมื่อถามว่าวุฒิสภายังยืนยันเนื้อหาตามที่แก้ไขที่ใช้เสียงข้างมากแบบสองชั้น นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังยืนยันว่าเราจะใช้แบบดังกล่าวในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติเรื่องอื่นก็จะใช้แบบธรรมดา
    
เมื่อถามย้ำว่าหากแต่ละสภายังยืนยันเนื้อหาของตัวเองจะทำให้กระบวนการล่าช้าหรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถใช้พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 ดังนั้น อย่าใช้เป็นข้ออ้างว่าหากการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติล่าช้าจะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนจะแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ เมื่อเข้าที่ประชุมร่วมกัน และได้ข้อสรุปอย่างไรก็ต้องแยกโหวตกันอีกครั้งว่าแต่ละสภาเห็นชอบอย่างไร หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบก็จะถูกพักไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถประกาศใช้ได้
    
เมื่อถามถึงการจัดสรรตำแหน่งของกมธ.ทั้ง 14 คนจะเป็นอย่างไรของสว.แต่ละกลุ่ม นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องรอการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 21 ต.ค. อย่างเดียวว่าทั้ง 14 คนมีใครบ้าง ซึ่งจะได้ความชัดเจนที่สุด
    
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าเกมที่วุฒิสภาเดินมีการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจและเจตนาที่ดีต่อประชาชนจริง ไม่ได้พิจารณาร่วมของกมธ.ประชามตินี้ก็ได้ เพราะสามารถใช้พ.ร.บ.ประชามติเดิมได้ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.พ. 68 ตนเชื่อว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเกินครึ่งหนึ่งแน่นอน เพราะฉะนั้น คำว่าเสียงข้างมากแบบสองชั้นไม่น่าจะมีผลอะไร ถ้าจะเอาไทม์ไลน์เดิมของรัฐบาลในการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.พ.2568