ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
ยูนิฟิล (UNIFIL) คือกองกำลังรักษาสันติภาพที่จัดตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติโดยมติของคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) เมื่อปีค.ศ.1978 โดยคำว่า UNIFIL ย่อมาจาก UNITED NATIONS INTERIM FORCE IN LEBANON ประกอบด้วยกองกำลังจาก 50 ชาติ และมีกำลังพลทั้งหมดประมาณ 10,000 นาย โดยกองกำลังเหล่านี้ไม่ใช่กำลังรบ แต่มีอาวุธประจำกายไว้ป้องกันตัว กับยานยนต์หุ้มเกราะที่ใช้ลำเลียงพลเพื่อความปลอดภัยไปยังที่ต่างๆ และมีภารกิจสำคัญคือสร้างสันติภาพโดยพยายามป้องกันมิให้ 2 ฝ่ายกระทบกระทั่งกัน นั่นคือฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายเลบานอน โดยเฉพาะคอยป้องกันหรืออย่างน้อยคอยสังเกตการณ์การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการรุกล้ำดินแดนของอีกฝ่ายด้วยกำลัง
ทั้งนี้โดยมติของ UNSC ที่ 425 และ 426 ที่ระบุให้อิสราเอลถอนทหารออกจากเลบานอน ภายหลังจากที่อิสราเอลได้ยกกองกำลังบุกเข้าไปในเลบานอนเพียงไม่กี่วันในปีค.ศ. 1978 และเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ จึงได้ตั้งหน่วย UNIFIL ขึ้นมาโดยได้กำหนดหน้าที่ไว้ 3 ประการคือ
1.เพื่อยืนยันการถอนทหารของอิสราเอลออกจากเลบานอน
2.สร้างสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย
3.ช่วยเหลือรัฐบาลเลบานอนเพื่อให้กลับมามีอำนวจในการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายหลังจากที่เลบานอนถูกกองกำลังอิสราเอลทำลายจนเสียหายยับเยิน ในหลายพื้นที่และเพื่อช่วยสถาปนาหลักมนุษยธรรมและกฎหมาย
และด้วยเหตุที่ UNIFIL มีหน้าที่ปกป้องหรือสังเกตการณ์เพื่อรายงาน UNSC เรื่องการละเมิดเขตแดน จึงต้องจัดตั้งจุดตรวจการณ์และกองกำลังตามแนวชายแดนอิสราเอล-เลบานอน
ตลอดจนพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ กองกำลัง UNFIL เหล่านี้แม้จะเป็นทหาร และแต่งชุดทหารแต่สวมหมวกเบเรต์สีฟ้า และยานพาหนะเป็นสีขาว และจะต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเข้าทำการรบ ยกเว้นเพื่อปกป้องตนเองเมื่อจำเป็น แต่ในทางปฏิบัติถ้าโดนโจมตีโดยกองกำลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยอาวุธหนัก เช่น รถถัง ขีปนาวุธ ปืนใหญ่หรือเครื่องบิน ทิ้งระเบิดกองกำลังยูนิฟิลก็ไม่อาจป้องกันตนเองได้
ทว่าโดยมติของคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติที่มีมหาอำนาจรวมอยู่ด้วย ย่อมเป็นหลักประกันความปลอดภัยของยูนิฟิล ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ยูนิฟิลจะมีหน่วยสังเกตการณ์กระจายไปตามแนวชายแดน ประมาณ 50 แห่ง และค่ายใหญ่อยู่ที่ NAQOURA โดยรักษาการตามแนวแม่น้ำลิตานีกับเส้นสมมติสีน้ำเงิน (BLUE LINE) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2000 ระยะทาง 120 กม.
ที่ผ่านมายูนิฟิลได้ผ่านประสบการณ์การรุกรานละเมิดมติ UNSC ของอิสราเอลครั้งใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง คือ ปี 1982 และ ปี 2006 ซึ่งในปี 1982 นั้นสงครามยืดเยื้อจนปี 1985 ที่อิสราเอลยอมถอนทหารออกจากภาคใต้ของเบรุต ส่วนปี 2006 นั้นอิสราเอลยกกำลังบุกอีกครั้ง และปะทะกับฮิซบอลเลาะห์ ที่ทำการต้านทานจนเกิดการรบพุ่งกันประมาณเดือนเศษ จึงมีการตกลงหยุดยิงและอิสราเอลถอนทหารออกไป โดยสหประชาชาติมีมติที่ 170 ในการหย่าศึกโดยจัดสร้างเขตกันชนที่ปลอดทหาร
อย่างไรก็ตามเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2024 อิสราเอลทำการทิ้งระเบิดโจมตีชานเมืองเบรุต และพื้นที่ทางใต้ของเลบานอน อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า1สัปดาห์จนทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 2,000 คน และมีคนอพยพไร้ที่อยู่ประมาณเกือบ 1 ล้านคน
อิสราเอลก็ตัดสินใจส่งกำลังภาคพื้นดินบุกเลบานอน ซึ่งก็ได้รับการต้านทานจากฮิซบอลเลาะห์ จนอิสราเอลต้องเพิ่มเติมกำลังเข้าไปอีกจำนวนมาก
ในครั้งนี้อิสราเอลได้กระทำการที่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง หลังจากที่ละเมิดมาแล้วด้วยการบุกไปทิ้งระเบิดถึงเบรุต อันทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนนับพัน และยกพลบุกข้ามดินแดนอันเป็นการละเมิดมติของ UNSC ที่ 425 และ 426 แต่นั่นยังไม่พออิสราเอลยังทำการโจมตีสำนักงานใหญ่หรือค่ายใหญ่ของ UNIFIL ที่นัคคารา (NAQOURA) โดยเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม ได้ใช้รถถังยิงถล่มหอสังเกตการณ์ของค่ายใหญ่ UNIFIL ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย แต่อิสราเอลก็ยังไม่หยุด ท่ามกลางการประท้วงของ UNIFIL ที่รายงานไปยัง UNSC และหลายประเทศในยุโรป แม้แต่ประเทศที่เป็นมิตรกับอิสราเอลอย่างอิตาลีก็แสดงการไม่เห็นด้วยยกเว้นสหรัฐฯ ที่ออกมาแถลงปกป้องว่ามันเป็นการรบติดพันกับฮิซบอลเลาะห์ และไม่ถึงกับเป็นภัยต่อความปลอดภัยของ UNIFIL
นอกจากนี้เนทันยาฮู ยังโทรศัพท์ไปข่มขู่เลขาธิการ UN นายกูเตอร์เรส ให้เคลื่อนย้ายค่ายของ UNIFIL ออกไปจากแนวรบ ซึ่งได้รับการปฏิเสธ เช่นเดียวกับที่ผบ.หน่วย UNIFIL ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ในที่สุด UNSC ก็มีแถลงการณ์ให้ยุติการโจมตี UNIFIL ว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้
แต่เนทันยาฮูก็ไม่ยุติการโจมตี โดยวันจันทร์ที่ 14 ต.ค. อิสราเอลได้ใช้รถถังถล่มประตูค่ายใหญ่ยูนิฟิล และบุกเข้าไปในค่าย โดยยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทว่าการกระทำดังกล่าวถือว่าโอหัง และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเข้าข่ายอาชญากรสงครามทีเดียว
จนบัดนี้มีกำลังพลของ UNIFIL บาดเจ็บไปรวม 5 ราย แต่ UN ก็ยังไม่อาจทำอะไรได้ ตราบใดที่สหรัฐฯยังหนุนหลังอิสราเอล ทั้งทางการเมือง กำลังเงิน กำลังคนและอาวุธ
ล่าสุดยังคงส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ THAARD พร้อมทหาร 1,000 คนให้อิสราเอล ซึ่งเท่ากับให้ท้าย มิไยว่านานาชาติจะออกมาประณามการกระทำของอิสราเอลที่ไม่เห็นหัวใครเลย แม้ไบเดนจะมาออกตัวว่าไม่รู้ไม่เห็นการตัดสินใจกระทำการของเนทันยาฮูก็ตาม
นั่นแสดงว่าอิสราเอลได้มีอิทธิพลครอบงำการเมืองในรัฐสภาอเมริกันได้โดยสิ้นเชิง แม้แต่ตัวประธานาธิบดีก็ไม่มีน้ำยา
นอกจากนี้อิสราเอลยังคงทำปฏิบัติการโจมตีกาซาภาคเหนือ ถล่มค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย จนไฟไหม้เต็นท์และมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ซึ่งมีผู้สังเกตการณ์ของ UN กล่าวว่ามันคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นับเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมนุษยธรรมอย่างยิ่งที่สำคัญมีชาวกาซาที่ตกค้างในกาซาเหนือกำลังถูกอิสราเอลกักให้อดตายเพราะแหล่งอาหารถูกอิสราเอลทำลายหมดแล้ว
สำหรับประเทศไทยในฐานะที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการในคณะมนตรีสิทธิมนุษยธรรมด้วยคะแนนสูงสุด เรามีจุดยืนอย่างไร และการดำเนินการอย่างไรในกรณีที่กล่าวถึงมาแล้ว
และเราจะมีท่าทีอย่างไรต่อเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านท่ามกลางการรบพุ่ง เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยต้องพิจารณาบทบาทระหว่างประเทศ และอย่าได้บอกว่าเราจะเป็นกลาง เพราะระหว่างความถูกความผิดมันเป็นกลางไม่ได้ ในขณะที่ก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม