วันที่ 17 ต.ค.2567 เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เร่งตรวจสอบพฤติกรรมของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ น่าจะกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงตามประมวลจริยธรรม สส.ใน 2 ประเด็น ว่า 1.กรณีพล.อ.ประวิตรลาไปต่างประเทศ บินหรู กินอยู่สบาย เดินทางโดยเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งตนสงสัยว่าจะเป็นเครื่องบินของเจ้าสัวหรือไม่ หากใช่ก็จะเข้าข่ายรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งก็ขอให้คณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย อย่ามัวแต่พิจารณาเรื่องอื่น จนตอนนี้ประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าสภาฯ มวยล้มต้มคนดูหรือไม่ และจะเป็นการปกป้องพวกเดียวกันหรือไม่
นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า 2.กรณีพล.อ.ประวิตรลาประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย ซึ่งพบว่าวันที่ 3 ตุลาคม พล.อ.ประวิตรไม่ได้มีภารกิจพิเศษตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. ได้เแจ้งไว้ แต่กลับเป็นการไปทำบุญที่ภาคอีสาน ถามว่าไปทำบุญวันอื่นได้หรือไม่ เหตุใดจึงไปทำบุญในวันที่มีประชุมสภาฯ ส่วนวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร มาสภาฯ แต่ก็เป็นเพียงการเซ็นชื่อแล้วกลับบ้านทันที ลักษณะเช่นนี้น่าจะเป็นการจัดฉากหรือไม่ หากเป็นพนักงานเอกชนก็เหมือนเป็นการโกงบริษัท แต่เมื่อพล.อ.ประวิตรเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และ สส. จึงน่าจะผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ซึ่งตนจะได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.และกกต.ด้วย
“การมาสภาฯของพล.อ.ประวิตร ทั้ง 11 ครั้งไม่รวมครั้งที่ 12 คือเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาน่าจะมีปัญหาเช่นกัน โดยขอให้ตรวจสอบลายเซ็นทั้ง 11 ครั้งว่าเหมือนกับครั้งที่ 12 หรือไม่ รวมถึงขอให้ตรวจสอบด้วยว่าทั้ง 11 ครั้งมีคนนำเอกสารมาให้พล.อ.ประวิตรเซ็นหรือไม่ และมีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ ซึ่งก็จะเข้าข่ายเหมือนคดี สส.เสียบบัตรแทนกัน พฤติกรรมของพล.อ.ประวิตรเป็นการใช้สิทธิ์มากกว่าคนอื่นหรือไม่ ยืนยันว่าตนไม่ได้คิดจองเวรพล.อ.ประวิตรแต่อย่างไร แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม” นายพร้อมพงศ์ กล่าว