วันที่ 17 ต.ค.67 นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะรองประฐานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเหตุผลในการตัดงบประมาณโครงการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนมูลฝอยทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินประมาณ 2,372,500,000 บาท ของคณะอนุกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักสิ่งแวดล้อม ว่า คณะอนุกรรมการวิสามัญฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวเก็บขยะเฉพาะจุดใหญ่ ไม่ได้เก็บตามซอกซอยชุมชน จึงไม่ได้ลดภาระเจ้าหน้าที่เก็บขยะของเขต ซึ่งท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่เก็บขยะของ กทม.ก็ยังมีภาระจัดเก็บขยะเหมือนเดิม คณะอนุกรรมการวิสามัญฯ จึงเห็นว่า การจ้างเอกชนมาเก็บขยะเป็นการเสียงบประมาณซ้ำซ้อน โดยปกติสำนักงานเขตมีการจัดเก็บขยะตามแผนดำเนินการอยู่แล้ว ไม่มีขยะตกค้าง แต่จะมีที่เขตสายไหม

 

เมื่อคณะอนุกรรมการวิสามัญฯ พิจารณารายละเอียดโครงการแล้ว จึงมีการโหวต 2-3 ครั้ง เนื่องจากมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในจำนวนใกล้เคียงกันมาก แต่ท้ายที่สุดมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย จึงตัดงบโครงการไป โดยมีข้อสังเกตหลัก คือ โครงการดังกล่าวควรคำนึงถึงผลกระทบต่อลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม ต้องมีแผนการรองรับที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบต่อลูกจ้างให้น้อยที่สุด รวมถึงโครงการดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหามูลฝอยส่วนเกินในพื้นที่เขตนำร่อง 10 เขต ควรกำหนดเส้นทางการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเส้นทางที่ กทม.ดำเนินการเอง การจ่ายค่าจ้างคิดจากปริมาณมูลฝอยที่เก็บได้ควรมีข้อกำหนดขอบเขตของงานและการตรวจรับที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับจ้างเก็บขนมูลฝอยนอกเส้นทางที่ กทม.กำหนด

 

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยที่มาของโครงการว่า เนื่องจาก กทม.มีกรอบอัตรากำลังในการเก็บขนมูลฝอย จำนวน 10,376 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 2,568 อัตรา พนักงานเก็บขนมูลฝอย 7,808 อัตรา ในส่วนพนักงานขับรถและรถขยะมีเพียงพอ แต่พนักงานเก็บขนไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้เข้ามาสมัครทำงานไม่ครบตามกรอบอัตราที่มี สาเหตุสำคัญคือค่าตอบแทนน้อยกว่าภาคเอกชนหรือการขับรถส่งของผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมถึงกรณีมีผู้สมัครสอบผ่านแล้ว แต่ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญกรรม จึงไม่สามารถเข้าทำงานได้ และกรณีเข้ามาทำงานระยะสั้นแล้วลาออกไปทำงานอื่นที่เบากว่า รายได้มากกว่าทดแทน ขณะที่ปริมาณขยะกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ในครึ่งปีแรกมีค่าเฉลี่ยสูงสุด 8,960 ตันต่อปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านจำนวนนักท่องเที่ยว ในส่วนสำนักงานเขต พบว่ามีขยะอันตรายที่ต้องจัดเก็บมากขึ้น ทำให้อัตรากำลังที่มีอยู่ มีภาระงานมากขึ้น เกิดปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ส่งผลให้รอบจัดเก็บลดลง กระทบต่อการบริการประชาชน

 

นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า โครงการดังกล่าวยังมีความจำเป็น แนวทางแก้ไขเบื้องต้นคือ เนื่องจากอัตรากำลังไม่พอ ในปีงบประมาณ 2568 กทม.จึงต้องบริหารจัดการอัตรากำลังที่มีอยู่เดิม ตามหลักการ จากที่เคยจัดเก็บขยะอยู่ที่ 1.25 ตันต่อคนต่อวัน (รถ 5 ตัน 4 คน) เพิ่มเป็น 1.5 ตันต่อคนต่อวัน หรือ 2.5-2.6 ตันต่อคนต่อวัน ในบางเขตที่มีขยะมาก เช่น สายไหม ลาดกระบัง หนองจอก คลองสามวา มีนบุรี รวมถึงวางแผนจัดเจ้าหน้าที่จากเขตชั้นในที่ไม่มีขยะเพิ่ม ไปช่วยเขตที่มีปริมาณขยะมาก หากยังไม่เพียงพอ อาจต้องจ้างคนมาช่วยตามความจำเป็นในแต่ละเขต โดยปัจจุบัน กทม.เพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ และแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะร้อยละ 30 ให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บ

 

ข้อสังเกตุหนึ่งที่สำคัญคือ ในยุคปัจจุบัน หลังจากเจ้าหน้าที่เก็บขนขยะแต่ละเขตเกษียณอายุ ผู้ที่เข้ามาทดแทนมักทำงานได้ไม่นาน ทำให้สัดส่วนอัตรากำลังไม่คงที่ และไม่เพิ่มขึ้น ในอนาคตอาจต้องทบทวนแนวคิดจ้างคนต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่ทดแทน เนื่องจากปัจจุบันอาชีพนี้ไม่ได้รับความสนใจจากคนไทยเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กทม.จะปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดโครงการเพื่อยื่นของบประมาณ ปี 2569 จากสภากทม. เพราะมีความจำเป็น โดยอาจลดระยะเวลาจ้างเอกชนจาก 5 ปี เป็น 2-3 ปี เพื่อลดวงเงินงบประมาณ และแก้ไขอัตรากำลังจัดเก็บขยะไม่เพียงพอต่อไป