วันที่ 17 ต.ค.2567 เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ ทั้ง 14 คน ว่า ที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 21 ต.ค.จะนำร่างพ.ร.บ.ประชามติเข้าที่ประชุม ส่วนรายชื่อว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการร่วมบ้างต้องรอที่ประชุมถึงจะสามารถประกาศได้ว่าสว.ทั้ง 14 คน มีใครบ้าง
เมื่อถามว่าวุฒิสภายังยืนยันเนื้อหาตามที่แก้ไขที่ใช้เสียงข้างมากแบบสองชั้น นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังยืนยันว่าเราจะใช้แบบดังกล่าวในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติเรื่องอื่นก็จะใช้แบบธรรมดา
เมื่อถามย้ำว่าหากแต่ละสภายังยืนยันเนื้อหาของตัวเองจะทำให้กระบวนการล่าช้าหรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถใช้พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 ดังนั้น อย่าใช้เป็นข้ออ้างว่าหากการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติล่าช้าจะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนจะแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ เมื่อเข้าที่ประชุมร่วมกัน และได้ข้อสรุปอย่างไรก็ต้องแยกโหวตกันอีกครั้งว่าแต่ละสภาเห็นชอบอย่างไร หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบก็จะถูกพักไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถประกาศใช้ได้
เมื่อถามถึงการจัดสรรตำแหน่งของกมธ.ทั้ง 14 คนจะเป็นอย่างไรของสว.แต่ละกลุ่ม นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องรอการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 21 ต.ค. อย่างเดียวว่าทั้ง 14 คนมีใครบ้าง ซึ่งจะได้ความชัดเจนที่สุด
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าเกมที่วุฒิสภาเดินมีการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจและเจตนาที่ดีต่อประชาชนจริง ไม่ได้พิจารณาร่วมของกมธ.ประชามตินี้ก็ได้ เพราะสามารถใช้พ.ร.บ.ประชามติเดิมได้ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.พ. 68 ตนเชื่อว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเกินครึ่งหนึ่งแน่นอน เพราะฉะนั้น คำว่าเสียงข้างมากแบบสองชั้นไม่น่าจะมีผลอะไร ถ้าจะเอาไทม์ไลน์เดิมของรัฐบาลในการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนก.พ.2568