จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนาการนำเสนอผลการศึกษา โครงการปฏิรูปการเมืองสุจริตบนฐานของการเลือกตั้ง กิจกรรมหลัก วิจัยประเมินผลและถอดบทเรียนการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 โดยมี รศ.ดร.กังสดาล เชาว์วัฒนกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ คณะนักวิจัย คือ ผศ.ดร.เกวลิน ศีลพิพัฒน์ ผศ.ศาสตรินทร์ ตันสุน อ.ดร.พรรณรัตน์ ดิษฐ์เจริญ และ นายวรวุฒิ เว้นบาป และได้รับเกียรติจาก นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานเปิดงาน
โอกาสนี้ ผศ.น.ท.หญิง ดร.งามลมัย ผิวเหลือง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ และ นายเกรียงไกร พานดอกไม้ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้ง ผู้บริหารและพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมสัมมนากว่า 80 คน ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ และ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมอภิปรายผลงาน และให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ณ ห้องประชุมพระเอราวัณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.กังสดาล เชาว์วัฒนกุล หัวหน้าโครงการวิจัย ได้สะท้อนผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่า “ค่าสมัคร สว. 2,500 บาท” เป็นสิ่งที่คนเห็นด้วยน้อยที่สุด เพราะทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการเลือก สว.ได้ โดยรูปแบบการได้มาซึ่ง สว.ที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ การเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน คิดเป็น 53.5% รองลงมา คือ ใช้รูปแบบเหมือนรอบปีนี้ (การเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ) คิดเป็น 18.3% และมาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และสรรหาส่วนหนึ่ง คิดเป็น 17.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ รศ.ดร.กังสดาล ยังชี้ให้เห็นจุดเด่นและจุดด้อยของรูปแบบการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ว่าแม้รูปแบบการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ จะเป็นนวัตกรรมทางการเมือง เพราะไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดมาก่อน แต่ก็ทำให้ขาดบทเรียนและตัวอย่างสำคัญ ทำให้เกิดกระบวนการเลือกที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยากเพราะมีความยุ่งยากในการปฏิบัติ ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าขาดการมีส่วนร่วมในการเลือก สว. ครั้งนี้
ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ชวนให้ตั้งคำถามและทบทวนว่า จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมี สว. หรือไม่ ดังนั้น กระบวนการได้มาของ สว. จึงมีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย โจทย์ยากของการออกแบบ กระบวนการได้มาของ สว. เพราะขาดจุดยึดโยงในการออกแบบ รวมถึงบริบททางสังคมวิทยาที่แตกต่างกัน
รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ชี้ประเด็นสำคัญให้เห็นว่า การเลือก สว. ที่ผ่านมาพบปัญหาที่หลากหลาย แต่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ ทั้งนี้ ปัญหาต่าง ๆ ที่พบจากการได้มาของ สว.รูปแบบนี้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยการแก้ไขที่รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการได้มาของ สว. หากต้องการยึดโยงกับประชาชนและหากไม่มีปัญหาในเชิงพื้นที่ ควรมีสภาเดียว ไม่ควรมีสองสภา
รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งในเชิงเชื้อชาติและเชิงพื้นที่ จึงนำมาสู่กติกาที่จะตอบโจทย์ว่าความต้องการของการมี สว. นั้นคืออะไร ก่อนที่จะตั้งคำถามว่าการได้มาของ สว. จะใช้รูปแบบใด ควรตั้งคำถามก่อนว่าจะมี สว. มาทำอะไร หน้าที่ของ สว. คืออะไร ซึ่งประเทศไทยมีการใช้รูปแบบการเลือก สว. มาเกือบทุกรูปแบบแล้ว แต่ในรูปแบบปัจจุบัน (การเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ) ถ้าลงสมัครแสดงว่าผู้สมัครต้องมีความเป็น สว. แต่การลงสมัครเพื่อไปเลือกคนอื่น ซึ่งขัดหลักธรรมชาติของการอยากเป็น สว. แต่หากมีการอ่านกติกาแล้วเข้าใจ จะสามารถมีแนวทางหรือรู้ช่องทางในการได้มาซึ่ง สว.
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงรูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ผ่านลิงก์ https://forms.gle/CmojYFNPMoC7c1jBA หรือการสแกนคิวอาร์