ผู้เชี่ยวชาญชี้ ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ช่วยขจัดปัญหาความอดอยากหิวโหย ให้ทุกคนเข้าถึงอาหารเพียงพอและปลอดภัยได้ ด้วยการช่วยกันลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และลดขยะอาหาร (Food Waste) ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโอกาสการเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการให้กับประชากรโลกอย่างยั่งยืน

วันที่ 16 ต.ค.67 ผศ.ดร.รชา เทพษร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) โดยปีนี้ “World Food Day 2024” ภายใต้แนวคิด “สิทธิทางอาหาร เพื่อทุกคนอิ่มดีถ้วนหน้า และอนาคตที่ดีกว่า (Rights to foods for a better life and a better future)” ซึ่งทุกภาคส่วน รัฐบาล เอกชน เกษตรกร ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน ต้องร่วมมือกันสร้างความหลากหลายของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ในราคาเข้าถึงได้ ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อบรรลุความมั่นคงทางอาหารและการมีโภชนาการที่ดีสำหรับทุกคน

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเริ่มได้จากเรื่องใกล้ตัวที่สุด คือ การลดขยะอาหาร ที่เกิดจากฝั่งผู้บริโภคจากการรับประทานอย่างพอเหมาะ เพียงพอ ไม่เหลือทิ้ง ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดในเรื่องนี้ ขณะที่การสูญเสียอาหาร เกิดจากภาคผู้ผลิต ที่สามารถลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ตามแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.รชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรมีแคมเปญรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการสูญเสียอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคตื่นรู้โดยไม่คิดว่าเราจะมีอาหารให้กินตลอดเวลา เพราะยังมีประชากรโลกอีก 1 ใน 3 ที่ไม่มีอะไรกิน การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเรื่องการลดขยะอาหารจึงเป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมโลก สร้างการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างทั่วถึง 

สำหรับภาคเอกชนในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ทั้งผู้ผลิตอาหาร ผู้ค้าปลีกอาหาร หรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME)  ล้วนมีบทบาทสำคัญสำหรับการจำกัดปริมาณขยะอาหาร ตลอดจนการนำนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยมาสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิต ลดการเน่าเสีย ยืดอายุการเก็บรักษา ตอบโจทย์การขนส่งในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้อาหารปลอดภัยต่อการบริโภค ดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับผู้บริโภคทุกคน  

“การสูญเสียอาหารและขยะอาหารยังเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ผลตามมาคือปลูกพืชไม่ได้ เลี้ยงสัตว์ไม่ได้ โดยยังมีคนที่ทนงตัวว่าของกินเยอะซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมสร้างขยะอาหาร อีกไม่นานก็จะเข้าอยู่สภาวะไม่มีอาหารในบางฤดู จึงต้องคำนึงถึงลูกหลานในอนาคตด้วยว่าพวกเขาต้องมีสภาพสังคมที่ดีและเข้าถึงอาหารได้” ผศ.ดร. รชา กล่าว

นอกจากนี้ นวัตกรรมยังช่วยสร้างแหล่งอาหารใหม่ เช่น การวิจัยทำโปรตีนจากแมลง เพื่อแก้ปัญหาโปรตีนขาดแคลน ตลอดจนมีการใช้เห็ดเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้น ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีผลิตอาหารให้กับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีอาการแพ้อาหาร เช่น กลุ่มที่แพ้กลูเตน เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าถึงอาหารได้ตามที่ร่างกายต้องการ

ในขณะเดียวกัน อาหารแช่แข็ง (Frozen Food) เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้อาหารอยู่ได้นานขึ้น ผ่านการแปรรูปน้อย ด้วยหลักการเก็บอาหารในอุณหภูมิต่ำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี จุลินทรีย์น้อยลง อาหารจะเก็บรักษาได้นานขึ้น แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ เปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หรือสูญเสียน้ำในระหว่างการทำละลาย หากเทคโนโลยีการแช่แข็งดีเหมาะสม ควบคุมกระบวนการผลิตดี สะอาด ปลอดภัย ก็สามารถแก้ไขเรื่องการขาดแคลนอาหารได้ ตอบโจทย์ความมั่นคง