วันที่ 16 ต.ค.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สี่ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายศานนท์ หวังสร้างบุญ นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่องขอให้กทม.เตรียมแผนการป้องกันน้ำท่วม จากสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมีความกังวลเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยเฉพาะช่วงฝนตกหนัก ซึ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่องปี 67 คนกรุงเทพฯ กลัวน้ำท่วมหรือไม่ โดยทำการสำรวจประชาชน 1,310 คน พบว่า ร้อยละ 33.82 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล รองลงมา ร้อยละ 27.79 ระบุว่า ไม่กังวลเลย ร้อยละ 21.06 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 17.33 ระบุว่า กังวลมาก 

 

นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายจังหวัด จาก จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง พิษณุโลก อยุธยา สุโขทัย นครสวรรค์ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบกับภาพน้ำท่วมในปี 54 ที่ยากจะลืม จึงอยากทราบว่าขณะนี้ กทม.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบันอย่างไร อุปกรณ์ในการแก้ไขและป้องกันการระบายน้ำพร้อมใช้งานหรือไม่ และ กทม.เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นครั้งนี้อย่างไร

 

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความเสี่ยงน้ำท่วม กรุงเทพฯ จะมี 3 เรื่อง ได้แก่ น้ำเหนือ น้ำหนุนและน้ำฝน โดยสถานการณ์น้ำเหนือดีขึ้นมาก แต่กทม.ยังคงเฝ้าระวังที่จุด จ.ชัยนาท และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เปรียบเทียบกับปี 2554 ช่วงต้นเดือน ต.ค.อยู่ที่ 3,860 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ปี 67 ช่วงต้นเดือน ต.ค. อยู่ที่ 1,319 ลบ.ม./วินาที 

 

ส่วนน้ำทะเลหนุน คาดจะขึ้นสูงสุด ในวันที่ 20 ต.ค.67 วันที่ 18 พ.ย.67 และ วันที่ 17 ธ.ค. 67 ฐานน้ำทะเลสูงสุด ที่ 1.37 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งเขื่อนป้องกันน้ำท่วมตลอดแนวเจ้าพระยาของ กทม. ความยาว 88 กม.สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ 2.8-3.5 ม. และเมื่อรวมน้ำเหนือแล้ว เขื่อนเจ้าพระยายังสามารถรับมือกับน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนได้

 

จากการถอดบทเรียนปี 2565 พบปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน จำนวน 120 แห่ง แบ่งเป็นแนวป้องกันของ กทม.รั่วซึม 76 แห่ง แนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานราชการ รั่วซึม 12 แห่ง และแนวฟันหลอ 32 แห่ง ซึ่ง กทม.ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566-2567 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันทำเสร็จไปแล้วร้อยละ 50 ส่วนที่ยังไม่เสร็จ ได้จัดเตรียมกระสอบทรายอุดรอยรั่วและเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเรียบร้อย

 

ขณะที่น้ำฝน สถานการณ์ฝนพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีฝนตกอยู่บ้าง ปริมาณฝนสะสมโดยรวมปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างใกล้ชิด ลดระดับน้ำในคลองเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำฝน เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง บ่อสูบน้ำ 376 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง อุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง ขุดลอกคลอง 225 กิโลเมตร (กม.) เปิดทางน้ำไหล 2,040 กม. ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 4,251.5 กม. เตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ เครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง และหน่วยเบสท์ (บริการเร่งด่วน) 35 หน่วย เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตาม กทม.ยังประสานกับกรมชลประทานและจังหวัดปริมณฑล เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมกัน