เมื่อเวลา 16.05 น. วันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการร้องเรียน บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป ซึ่งมีการเผยแพร่คลิปเสียง ระบุ มีเทวดาที่ สคบ. เรียกรับผลประโยชน์มีการดำเนินการอย่างไรบ้างว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมมากที่สุด ในการตรวจสอบประเด็นนี้ จะมีการเชิญคนนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบ โดยได้มีการประสานบุคคลที่มีชื่อเป็นคณะกรรมการครบแล้ว แต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหลายอย่าง มีการพาดพิงหน่วยงานและบุคคลภายนอกด้วย เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ จึงเสนอให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูล รวมถึงหน่วยงาน และบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมด้วย
เมื่อถามว่า ในคลิปเสียงที่มีการเผยแพร่ มีชื่อพ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรองเลขาธิการ สคบ. จะมีการตรวจสอบอย่างไร นางสาวจิราพร กล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่า กรณีปรากฎภาพนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ปกับเจ้าหน้าที่ สคบ.จำนวนมากนั้น นางสาวจิราพร ชี้แจงว่า ในส่วนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการและนำคนนอกมาสอบสวน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยคณะกรรมการชุดนี้จะให้ข้อเสนอแนะและนโยบาย เพื่อการแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป โดยได้กำหนดกรอบการตรวจสอบไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้คณะกรรมการจะมีทั้งหมด 7 คน โดยมีตัวแทนอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า กรณีเจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์จะมีการสอบสวนในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ นางสาวจิราพร ระบุว่า จะมีการสอบสวนทุกอย่างที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวกัน เนื่องจากคณะกรรมการมีหน้าที่ศึกษาข้อเท็จจริงและจะมีการตรวจสอบทั้งหมด ทั้งเรื่องคลิปเสียง และกรณีอื่นๆ
นางสาวจิราพร เปิดเผยอีกว่า ในเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ต.ค.นี้ ทาง สคบ.ได้เรียกผู้บริหารบริษัท และดารา เข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ข้อมูล ซึ่งผลการสอบจะต้องมีการส่งไปให้ ตร. เพื่อประกอบการพิจารณา
เมื่อถามว่า มีผู้เสียหายบางคนกังวลเรื่องการสืบทรัพย์เพื่อเยียวยา นางสาวจิราพร กล่าวว่า ประชาชนสามารถไปที่ ตร. ในส่วนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ข้อมูลกับทางตำรวจ แต่ขั้นตอนหลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของตำรวจ ยืนยันว่า ไม่ต้องกังวล ในเรื่องที่จะได้รับการเฉลี่ยทรัพย์ เนื่องจากหากตำรวจได้ข้อเท็จจริง และข้อกล่าวหาที่ชัดเจนแล้ว จะส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง ปปง. และหากเกี่ยวข้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็จะส่งเรื่องต่อไปให้เช่นเดียวกัน ย้ำว่า ทุกหน่วยงานกำลังรวบรวมสรรพกำลังในตอนนี้ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงให้กับประชาชน
โดยทาง ตร. แจ้งว่า มียอดผู้ร้องทุกข์เข้ามาทะลุพันคน มูลค่าความเสียหายจำนวน 380 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคล วัตถุ เอกสาร เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะเน้นไปที่เรื่องพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นการโฆษณาต่างๆ
เมื่อถามว่า กรณีมีพระภิกษุสงฆ์เข้าเกี่ยวข้องด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะต้องดูแลอย่างไร นางสาวจิราพร กล่าวว่า เราทราบดีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี เข้าใจความกังวลของประชาชนว่า เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ทางรัฐบาลเองก็จะมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็น ส่วนพระสงฆ์จะต้องเข้าให้ข้อมูลด้วยหรือไม่นั้น ต้องรอดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
นางสาวจิราพร ยังเปิดเผยด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการป้องกันในระยะยาว ซึ่ง ตร.เป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนในการสอบสวนข้อเท็จจริงกับหน่วยงานอย่าง สคบ. และกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องแชร์ลูกโซ่ให้ไปดูกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
นางสาวจิราพร กล่าวว่า ส่วนกรณีการมอบโล่ให้บริษัทดังกล่าว จากการสืบสวนข้อเท็จจริงของ สคบ.พบว่า มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ ยืนยันว่า เป็นโล่รางวัลเกี่ยวกับการทำสาธารณะประโยชน์ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการประกอบธุรกิจ ซึ่ง สคบ.ได้มีการส่งหนังสือแจ้งเรียกคืนเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะมีความผิดเพิ่มเติมหรือไม่ คณะกรรมการจะสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป