สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 เวทีอำเภอเมืองสตูล (จังหวัดสตูล) โครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – จังหวัดสตูล

วันที่ 15 ต.ค.67  ที่ห้องประชุมอภัยนุราช 2 โรงแรมสินเกียรติบุรี  อ.เมือง  จ.สตูล  นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 เวทีอำเภอเมืองสตูล (จังหวัดสตูล) โครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – จังหวัดสตูล  โดยมีนางสาวกฤติกา บูรณะดิษ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยที่ผ่านมา สนข. และที่ปรึกษาได้จัดให้มีการสัมมนาแนะนำโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 และการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการระดับอำเภอที่เส้นทางโครงการผ่าน ครั้งที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาแนวทางการออกแบบให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันการศึกษาฯ อยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานความก้าวหน้า ฉบับที่ 3 (Progress Report III)

ทั้งนี้ การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในพื้นที่ศึกษาทั้ง 6 จังหวัดเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 8 ครั้ง โดยในวันนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดและอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการกลุ่มอาชีพในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนผู้ที่ให้ความสนใจ ซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยในวันนี้ เป็นการนำเสนอแนวเส้นทางเบื้องต้นและตัวอย่างการออกแบบแนวคิดเบื้องต้น โดยมุ่งหวังที่จะรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อนำไปประกอบการศึกษาโครงการ โดยผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน ครอบคลุมประเด็นข้อห่วงกังวล และเป็นการสะท้อนถึงความต้องการจากพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป