เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นม.) นักศึกษา (สิงห์โคราช) หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.นม. จัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภายใต้โครงการมุมรัฐศาสตร์: บทเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีคณาจารย์ นักศึกษาและประชาชนที่สนใจกว่า 250 คน ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวในห้วงเดือนตุลาคม 2516 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะที่ได้สร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เติบโตขึ้นในรัฐไทยและเน้นบทบาทสำคัญของขบวนการนิสิตนักศึกษาที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ



ซึ่งมีการจัดนิทรรศการภาพข่าวเพื่อให้เข้าใจบทเรียนทางประวัติศาสตร์และการบรรยายพิเศษโดยอาจารย์อิทธิพล  โคตะมี วิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หัวข้อ “ขบวนการนักศึกษากับการเมืองไทย: จาก 14 ตุลา 2516 ถึงตุลา 2567” ซึ่งนำเสนอภาพรวมของขบวนการนักศึกษาในอดีตและปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบทางการเมืองที่ยังคงมีอิทธิพลในสังคมไทย



อาจารย์จารุกิตติ์  ไชยรด อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มรภ.นม. กล่าวว่า หลักสูตรวิชารัฐศาสตร์ได้เปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองและการปกครองของไทย กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อสะท้อนภาพเหตุการณ์ทางการเมืองมุมมองความคิดและเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการเกี่ยวกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวในเวลานั้นและในปัจจุบันมีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันในการเรียกร้องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่มีความแตกต่างอย่างมากในบริบททางสังคม การเคลื่อนไหว และการเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูล สภาพแวดล้อมทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยเป็นปัจจัยสำคัญทำให้วิธีการและแนวทางการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาเปลี่ยนไป



นางสาววรกาญจน์  ไกรกูล ประธานคณะกรรมการนักศึกษา ฯ ผู้ริเริ่มการจัดงาน กล่าวว่า จัดขึ้นเพื่อสะท้อนเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของไทย ซึ่งเป็นชัยชนะของประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว นิสิตและนักศึกษาที่มุ่งมั่นต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลานั้น แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งแต่คำถามสำคัญ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้รัฐไทยไม่ย้อนกลับไปสู่สภาวะเดิมคือถูกปกครองโดยทหารที่ควรทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศและไม่แทรกแซงการเมือง ส่วนบทบาททางการบริหารและการเมืองอื่นๆ ควรดำเนินไปตามกระบวนการของประชาธิปไตย