"คลัง" จัดชุดใหญ่มาตรการช่วยน้ำท่วมผ่านแบงก์รัฐ-เว้นภาษี-ปล่อยสินเชื่อ-งดค่าเช่าที่ดินธนารักษ์
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยว่า นอกเหนือจากที่รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายครอบครัวละ 9,000 บาท และค่าล้างโคลนครัวเรือนละ 10,000 บาทแล้ว ในส่วนของกระทรวงการคลังจะมีมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่
1.การยกเว้นภาษีเงินได้
-บุคคลธรรมดาไม่ต้องนำเงินชดเชยมาคำนวณเสียภาษี
-นิติบุคคลไม่ต้องนำเงินชดเชยมาคำนวณเสียภาษี และยกเว้นภาษีอากรนำเข้าสิ่งของที่นำมาบริจาค
2.กรมธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่า
-กรณีที่ได้รับความเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี
-กรณีที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี
-กรณีเป็นเกษตรกร ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี
-กรณีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถประกอบกิจการได้ภายใน 3 วัน หรือเกินกว่า 3 เดือน ยกเว้นค่าเช่าโดยพิจารณาเป็นเดือน ๆ ไป
-กรณีจ่ายค่าเช่าล่าช้าไม่คิดเงินเพิ่ม
3.การปล่อยสินเชื่อ
3.1 ธนาคารออมสินมีวงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทสำหรับเอสเอ็มอี โดยธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งจะรับไปดำเนินการต่อในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ระยะเวลา 2 ปี รายละไม่เกิน 40 ล้านบาท
-พักเงินต้นไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท
-ปรับลดอัตราชำระขึ้นต้นเหลือ 3% ในสามรอบบัญชีสำหรับบัตรเครดิต
3.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
-ขยายเวลาการชำระหนี้เป็น 20 ปี
-สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อปรับสภาพคล่องไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย กู้ได้ไม่เกิน 3 ปี คิดดอกเบี้ย 0% ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRR
-สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ซ่อมแซมบ้านเรือน และเครื่องมือทางการเกษตรรายละ 5 แสนบาท คิดดอกเบี้ย MRR-2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
3.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
-ลดเงินงวดชำระลง 50%
-ลดดอกเบี้ยเหลือ 2.00% เป็นเวลา 6 เดือน
-ลูกค้า NPL ที่มีหลักประกันสามารถประนอมหนี้ ช่วง 1 ปี 6 เดือนแรก คิดดอกเบี้ย 0% สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินงวดละ 1,000 บาท หนี้ส่วนที่เหลือคิดดอกเบี้ย 1%
-สินเชื่อซ่อมบ้านวงเงิน 2 ล้านบาท/ราย ดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ส่วนที่เหลือดอกเบี้ย 2-6%
3.4 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
-พักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร
3.5 ธนาคารเอสเอ็มอี
-พักเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้อัตราคงที่ไม่เกิน 12 เดือน
-ขยายเวลาเงินกู้พี/เอ็นออกไปเป็นไม่เกิน 180 วัน
-ทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการเพิ่มอีก 10%
3.6 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)
-ขยายเวลาเงินกู้พี/เอ็นออกไปเป็นไม่เกิน 180 วัน
ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายเพื่อออกเป็นระเบียบ หรือพระราชกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป
#ข่าววันนี้ #น้ำท่วม #แบงก์รัฐ #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #ภาษี