ชาวบ้าน จว.ท้ายเขื่อน เจ้าพระยา ถึง กทม.ผ่อนคลาย  ศปช. ลดการระบายน้ำ  9 จว. เร่งช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ คาดสิ้นเดือนนี้เข้าสู่ภาวะปกติเกือบทั้งหมด ส่วนภาคใต้มี 9 จังหวัดต้องเฝ้าระวังดินสไลด์และน้ำป่าไหลหลาก ขณะที่การฟื้นฟูเชียงรายคืบหน้ากว่า 90%

วันที่ 15 ต.ค.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า จากการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบทำให้กรมชลประทานสามารถปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (15 ต.ค.) จะมีการปรับลดการระบายน้ำ 2 ครั้ง รวม 100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเหลือ 1,550 ลบ.ม./วินาที จากที่เคยระบายน้ำสูงสุดที่ 2,200 ลบ ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงจากระดับสูงสุดที่ 15.10 ม.รทก. เหลือ 13.18 ม.รทก. หรือลดลงมาแล้วเกือบ 2 เมตร และจะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศปช. ได้เชิญตัวแทน 9 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพฯ มาร่วมหารือสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมรับฟังแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งในภาพรวมทุกจังหวัดระบุตรงกันว่า การบริหารจัดการน้ำปีนี้ทำได้ดี ทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาด อย่างไรก็ตามประเมินว่าภายในสิ้นเดือนนี้ทุกพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม จะเข้าสู่ภาวะปกติ ยกเว้น จ.พระนครศรีอยุธยา ที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน พฤศจิกายน 

“สทนช. แจ้งที่ประชุมว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าจะปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เหลือ 700 ลบ.ม./วินาทีได้ ภายในวันที่ 27 ต.ค.67 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ที่ต่ำที่สุดของลุ่มเจ้าพระยา เช่น คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ตลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบแรกๆ จะคลี่คลายในไม่ช้า” นายจิรายุ กล่าว

สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องในภาคใต้ ทำให้มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 15-16 ต.ค. ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.ภูเก็ต (เมืองภูเก็ต กะทู้ ถลาง) , จ.กระบี่ (เมืองกระบี่ เขาพนม เกาะลันตา) , จ.ตรัง (ย่านตาขาว ปะเหลียน ห้วยยอด นาโยง) , จ.สตูล (ควนโดน ควนกาหลง ละงู ทุ่งหว้า มะนัง) , จ.พัทลุง (กงหรา ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ เขาชัยสน ตะโหมด ควนขนุน) , จ.สงขลา (หาดใหญ่ สะบ้าย้อย จะนะ นาทวี รัตภูมิ สะเดา) , จ.ปัตตานี (โคกโพธิ์ หนองจิก ปานาเระ มายอ ทุ่งยางแดง สายบุรี ยะรัง) , จ.นราธิวาส (บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร แว้ง สุคิริน สุไหงปาดี จะแนะ เจาะไอร้อง) และ จ.ยะลา (เบตง ธารโต กาบัง บันนังสตา ยะหา รามัน กรงปินัง) 

“พื้นที่เสี่ยงทั้ง 9 จังหวัด กรมทรัพยากรธรณี ได้ประสานอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงทุกช่องทาง ทั้งทางโทรศัพท์ กลุ่มไลน์เครือข่าย และช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมสำหรับให้ความช่วยเหลือทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ” นายจิรายุ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูที่ จ.เชียงราย นายจิรายุกล่าวว่า การดำเนินการฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย มีเป้าหมาย1,367 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 1,339 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 28 ครัวเรือน คิดเป็น 98% ส่วนการดำเนินการช่วยเหลือฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เฟส 2 มีเป้าหมาย 819ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 745 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 74 ครัวเรือน คิดเป็น 91% 

ส่วนการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดจากอุทกภัย ในจ.เชียงราย พบว่าในพื้นที่ อ.เมือง และเทศบาลนครเชียงราย จ.เชียงราย ดำเนินการเก็บขยะไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 69,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 98.75 คงเหลือปริมาณขยะตกค้าง จำนวน 1,000 ตัน และได้ดำเนินการปิดจุดพักขยะบริเวณหลังร้านเดอะมูน ถนนพหลโยธินเรียบร้อยแล้ว คงเหลือจุดพักขยะบริเวณดอยสะเก็น ซอย 3 ถนนเวียงบูรพา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ส่วนการจัดการขยะมูลฝอย ที่ อ.แม่สาย ดำเนินการเก็บขยะไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 5,400 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90 คงเหลือปริมาณขยะตกค้าง จำนวน 600 ตัน คงเหลือชุมชนที่ยังไม่สามารถนำดินโคลนออกได้ จึงมีขยะตกค้างอีก จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนเกาะทราย ชุมชนสายลมจอย ชุมชนไม้ลุงขน และชุมชนถ้ำผาจม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนที่กำหนดไว้ตามเดิม ในวันที่ 21 ต.ค. นี้