วันนอร์เผยวิป2ฝ่าย พร้อมถกร่างศึกษาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมวันนี้ ก่อนชงเข้าที่ประชุมสภาฯ เชื่อเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุม ชูศักดิ์ ไฟเขียว สภาฯ ถกรายงานนิรโทษฯ หลังยื้อมาสามสัปดาห์ คาดอภิปรายเดือดปมล้างผิดม.112 ด้านเรืองไกร ร้องกกต.สอบนายกฯอิ๊งค์ ปมฉุนสื่อ โวยถามยุแยง เข้าข่ายขัดขวางเสรีภาพสื่อมวลชนหรือไม่
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา16 แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 14 ต.ค.67 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงร่างศึกษาพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ ว่า คิดว่าในวันที่ 15 ต.ค. วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านจะร่วมกันหารือร่างดังกล่าว ทั้งนี้คิดว่าจะพิจารณาเป็นเรื่องด่วนได้ เพราะสภาฯ ได้บรรจุวาระไว้แล้ว หากแนวทางที่กรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เสนอมาได้รับการยอมรับจากที่ประชุมก็จะส่งให้ดำเนินการต่อไป คาดว่าจะเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ แต่สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับจริงยังไม่มีความแน่ชัด
ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.ประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกมธ. เปิดเผยว่า ได้รับการประสานและยืนยันจากคณะกมธ.และฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าในการประชุมสภาฯ วันที่ 17 ต.ค. จะมีการพิจารณารายงานผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่กมธ.พิจารณาเสร็จและส่งเข้าสภาฯ
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในกมธ. ชุดดังกล่าว เปิดเผยว่า นายชูศักดิ์ได้แจ้งในไลน์กลุ่มกมธ. ว่าการประชุมสภาฯ 17 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณารายงานดังกล่าวแน่นอนหลังเลื่อนมา 2-3 ครั้ง เพราะตอนนี้ ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ มีการเสนอเข้าสภาฯมาแล้วหลายร่างฯ และจะมีการพิจารณาในสภาฯ อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ก็เพราะต้องการรอให้สภาฯ พิจารณารายงานของกมธ. ชุดนี้ก่อน ซึ่งพอสภาฯ พิจารณารายงานเสร็จ ก็จะได้มีการพิจารณาร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่เสนอเข้าสภาฯ ที่พรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคประชาชนเสนอฯ
นพ.เชิดชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกมธ.ของสภาฯ ชุดไหน พูดคุยศึกษาเรื่องมาตรา 112 จะมีก็คือกมธ.วิสามัญชุดนี้ที่คุยเรื่อง 112 เป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษา มีการเขียนไว้ในรายงานของกมธ.ชัดเจนว่า หากจะนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วยจะให้มีเงื่อนไขการนิรโทษกรรมอย่างไร ซึ่งเมื่อสภาฯ ได้อภิปรายกันในวันพฤหัสบดีนี้แล้ว หากพรรคการเมืองไหน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 หรือมีความเห็นว่าควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบไหน ก็อภิปรายกัน มันจะได้ลดความเข้าใจผิด ยืนยันว่า ข้อเสนอของกมธ. ไม่ได้เสนอให้แก้ไข 112 แต่มีการอภิปรายเสนอความเห็นกันในกมธ.ว่าพวกโดนคดี 112 จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่ และหากนิรโทษกรรมจะมีเงื่อนไขอย่างไร เช่นพวกมีพฤติกรรมอาฆาตมาดร้าย แบบนี้ ก็อาจต้องได้รับการลงโทษเบื้องต้นก่อน
สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องเรื่องราวอะไร พวกอยู่ในห้องแอร์ แล้วเกิดไปแชร์ไปโพสต์อะไร หรือไปร่วมชุมนุมด้วย แบบนี้ จะไปเอาผิดได้อย่างไร เพราะไม่ได้มีเจตนา ซึ่งในรายงานข้อเสนอของกมธ.จะพบว่า บางคนที่คัดค้านหัวเด็ดตีนขาดไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 แต่ลึกๆ แล้ว เขาก็บอกว่าถ้าจะนิรโทษจริงๆ ก็ให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข การประชุมสภาฯ ครั้งนี้ ส.ส.ก็อภิปรายแสดงความเห็นกัน แต่ว่าในระดับพรรคที่สังกัด ก็ให้แต่ละพรรคไปคุยกันเองว่า จะเอาด้วยหรือไม่ ไม่มีใครบังคับ ประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีนี้ พอเสร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจไปคุยกันว่าเห็นอย่างไร หรือหากส.ส.บางกลุ่มสนใจ เขาก็เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ในฐานะส.ส.ได้
วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รีบตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ประกอบมาตรา 186 หรือไม่ และจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (5) หรือไม่ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปตามความในมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสี่
นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งในอีกหลากหลายกรณีที่รวบรวมไว้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละกรณีต้องใช้เวลารวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับคำร้องวันนี้ เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 จึงต้องร้องไปที่ กกต. โดยมีเนื้อหาดังนี้ ข้อ 1. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 เว็บไซต์สถานีช่องหนึ่งได้ลงข่าวหัวข้อ นายกฯอุ๊งอิ๊ง ฉุนสื่อ ถูกถามจุดยืนแก้รธน. บอกไม่ถามยุแยง ชี้ เป็นเรื่องสภา ขอเดินหน้าแก้น้ำท่วม ไว้ดังนี้ "นายกรัฐมนตรี ถูกสื่อถาม จุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ บอกเป็นเรื่องของสภา ขอแก้ปัญหาน้ำท่วม-เศรษฐกิจก่อน บอกนักข่าวไม่ถามอะไรยุแยง
ข้อ 2. กรณีข้อเท็จจริงตามตัวอย่างข่าวข้างต้น มีปรากฏเป็นข่าวและคลิปโดยทั่วไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี ครม.บางส่วน ร่วมการแถลงข่าวด้วยนั้น กรณี จึงเห็นได้ว่า เหตุเกิดที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการกระทำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี
ข้อ 3. การที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์บางส่วนว่า " ไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้" และ " และขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง" นั้น จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ ทั้งนี้ ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ซึ่งมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 4.รัฐธรรมนูญ มาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น "มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาตรา 186 ให้นําความในมาตรา 184 มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้ (1) การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี (2) การกระทำตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือตามนโยบายที่ได้แถลง ต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม "มาตรา 184 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง (4) ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซง การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ"
ข้อ 5. จากข้อเท็จจริงในส่วนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์บางส่วนว่า " ไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้" และ " และขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง" นั้น เมื่อนำไปตรวจกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้อง กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (5) เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ประกอบมาตรา 186 หรือไม่
นายเรืองไกร ยังกล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายกรณีที่จะตรวจสอบนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะ ส.ส. หรือ ส.ว.ไม่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ดังนั้น ตนจึงใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกอย่างนี้ ส่วนรัฐมนตรีรายอื่น ก็ติดตามดูอยู่ ใครที่ควรจะถูกตรวจสอบ จะส่งคำร้องแล้วแจ้งให้ทราบเป็นคราวๆ ไป