อพท.จับมือพันธมิตร 'มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย'ลงนามความร่วมมือหลังเจรจาร่วมพัฒนาทักษะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ตั้งเป้ายกระดับและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ AI เสริมความแข็งแกร่งแก่อุตสาหกรรมการบริการการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวในพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือในการดำเนิน “โครงการพัฒนาทักษะ AI สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย” (AI Skills for AI-Enabled Tourism Industry in Thailand) ร่วมกับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย โดยมี นายริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ว่า อพท. มีบทบาทในการสนับสนุนให้บุคลากรในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว มีทักษะที่สอดคล้องต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นภารกิจที่ อพท. ดำเนินงานมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในครั้งนี้ ได้มีการเจรจากับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ดำเนินโครงการ “พัฒนาทักษะ AI สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย” (AI Skills for AI-Enabled Tourism Industry in Thailand) โดยจะร่วมกันจัดกิจกรรมอบรม เรื่องการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยี AI เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการผ่านการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรของภาคธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวในระดับชุมชนและวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท.
รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ มุ่งเน้นกิจกรรมที่สร้างนวัตกรรม (Hackathon) ในรายภูมิภาคและกิจกรรมแสดงผลงานระดับชาติ (National Showcase) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการบ่มเพาะการสร้างนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนการยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
โดยนาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่เร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพที่จะทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและชุมชนท่องเที่ยวมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล สามารถปรับตัวในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามเป้าหมายของรัฐบาลต่อไป