วันที่ 14 ต.ค.67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. รีบตรวจสอบว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ประกอบมาตรา 186 หรือไม่ และจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (5) หรือไม่ และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปตามความในมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสี่
นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งในอีกหลากหลายกรณีที่รวบรวมไว้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละกรณีต้องใช้เวลารวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาเรียงร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับคำร้องวันนี้ เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 จึงต้องร้องไปที่ กกต. โดยมีเนื้อหาดังนี้
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 เว็บไซต์ ch3plus.com ได้ลงข่าวหัวข้อ นายกฯอุ๊งอิ๊ง ฉุนสื่อ ถูกถามจุดยืนแก้รธน. บอกไม่ถามยุแยง ชี้ เป็นเรื่องสภา ขอเดินหน้าแก้น้ำท่วม ไว้ดังนี้
“นายกรัฐมนตรี ถูกสื่อถาม จุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ บอกเป็นเรื่องของสภา ขอแก้ปัญหาน้ำท่วม-เศรษฐกิจก่อน บอกนักข่าวไม่ถามอะไรยุแยง
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีครม.บางส่วน ร่วมการแถลงข่าว เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมฯ เป็นต้น
โดยนายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้รัฐบาลขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วมก่อน เท่าที่คุยกันข้างนอกกับรัฐมนตรีทุกคน อย่างเมื่อช่วงเช้าได้รับรายงานมาว่าลำปางน้ำท่วมหนักขึ้น และรัฐมนตรีทุกคน มีการพูดถึงแต่เรื่องเยียวยาในพื้นที่ประสงค์อุทกภัยจึงขอโฟกัสเรื่องนี้เป็นสำคัญ และเมื่อเช้าได้รับรายงานจากนายอนุทิน ได้รายงานว่า ได้มอบหมายให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนต่อไป ปฏิบัติหน้าที่แทนนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่จะเกษียณราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่ได้ทำงานบูรณาการร่วมกันอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเดินหน้าหรือชะลอไว้ก่อนนั้น นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องที่อยู่ในสภา รัฐบาลต้องทำงานให้ประชาชนก่อน
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่นภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ กลับลำมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทำให้นายอนุทิน รีบตอบสวน ผู้สื่อข่าวทันทีว่า "ไม่ได้กลับลำ ไม่ได้กลับลำครับ เราต้องทำงานให้กับพี่น้องประชาชนก่อน"
ขณะที่นายกฯ กล่าวต่อว่า ต้องพูดคุยกัน ไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้ เรื่องของการกลับลำ เพราะเมื่อกี้นี้ก่อนที่จะมีการประชุมครม. เรามีการพูดคุยกันทั้งก่อนและหลังการประชุมครม. และถามความคิดเห็นกันว่าอย่างไร เข้าใจว่าเวลาสัมภาษณ์ จะมีการตัดบางคำพูด ทำให้รู้สึกว่ากลับลำหรือไม่เห็นด้วยได้ แต่ความจริงแล้วเราคุยกันหลังไมค์อยู่แล้ว เมื่อกี้ก็ได้คุยกับ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคหลายๆคน มีความคิดเหมือนกันว่าตอนนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรเน้น คือเรื่องของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องน้ำท่วมหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากจะบอกว่า "ถ้ารัฐบาลมั่นคง การเมืองมั่นคง ประเทศชาติก็มั่นคงไปด้วย อันนี้นักข่าวก็ต้องช่วยกันในเรื่องนี้ด้วยค่ะ"
เมื่อถามต่อว่าหลายคนมองว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นการแก้แบบสุดซอย นายกฯ กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องพูดคุยกัน รัฐบาลเข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่ดีของประชาชน จำไว้ว่าเราก็อยากให้รัฐบาลเข้มแข็งต่อไป และขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง
เมื่อถามว่าหมายความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่วาระเร่งด่วนใช่หรือไม่ นายกฯ ระบุว่า ณ ขณะนี้ สิ่งที่เร่งด่วนที่สุด คือสถานการณ์น้ำท่วม เอาจริงถ้าหันมามองหน้ารัฐมนตรีทุกคน มีความกังวลใจเรื่องนี้ แต่ทุกคนจะแก้ปัญหา ให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด อย่างเมื่อสักครู่ก็เพิ่งพูดเรื่องเยียวยากันไป ว่าเราจะสามารถปลดกรอบตรงนี้ได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาโดยเร็ว นี่คือสิ่งที่เราโฟกัส
โดยภายหลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้นนายกฯ กล่าวว่า แค่นี้ก่อนค่ะและเดินออกจากวงสัมภาษณ์ในทันทีก่อนที่จะกลับขึ้นไปยังด้านบน เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน”
ข้อ 2. กรณีข้อเท็จจริงตามตัวอย่างข่าวข้างต้น มีปรากฏเป็นข่าวและคลิปโดยทั่วไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นกรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีครม.บางส่วน ร่วมการแถลงข่าวด้วยนั้น กรณี จึงเห็นได้ว่า เหตุเกิดที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการกระทำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะที่เป็น นายกรัฐมนตรี
ข้อ 3. การที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์บางส่วนว่า “... ไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้” และ “... และขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง” นั้น จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ ทั้งนี้ ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ซึ่งมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 4. รัฐธรรมนูญ มาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
“มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”
“มาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ
(5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187”
“มาตรา 186 ให้นําความในมาตรา 184 มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(1) การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี
(2) การกระทำตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือตามนโยบายที่ได้แถลง ต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม”
“มาตรา 184 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง
(4) ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซง การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ”
ข้อ 5. จากข้อเท็จจริงในส่วนที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์บางส่วนว่า “... ไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้” และ “... และขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง” นั้น เมื่อนำไปตรวจกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้อง กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (5) เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 (4) ประกอบมาตรา 186 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังมีอีกหลายกรณีที่จะตรวจสอบนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะ สส. หรือ สว.ไม่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ดังนั้น ตนจึงใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกอย่างนี้ ส่วนรัฐมนตรีรายอื่น ก็ติดตามดูอยู่ ใครที่ควรจะถูกตรวจสอบ จะส่งคำร้องแล้วแจ้งให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป