เมื่อนที่ 12 ต.ค.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมคณะ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม-น่าน ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานชลประทานที่ 3 โดยมี นายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก , นายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ  และ ผู้เกี่ยวข้อง ฯ เข้าร่วมประชุมและ รายงานผลการดำเนินงานในพื้นที่

ต่อมา รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่รับน้ำโครงการบางระกำโมเดล พบปะและให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 478 ครัวเรือน ณ บริเวณที่พักชั่วคราว บ้านวังกุ่ม หมู่ 15 ต.บางระกำ, วัดพรหมเกษร อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก  โดยมีพล.ต.ต.นิคม เครือนพรัตน์ ผบก.ภ.จว.พิษณุโลก , พ.ต.อ.สมเกษม จารักษ์ ผกก.สภ.บางระกำ หัวหน้าส่วนราชการ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางระกำ ร่วมต้อนรับและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยใน ต.บางระกำ อ.บางระกำ จว.พิษณุโลก

จากนั้นติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิจิตร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย และลงเรือมอบถุงยังชีพให้กับชาวบ้านกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ อ.สามง่าม จำนวน 300 ชุด ณ บ้านเกาะสาริกา อ.สามง่าม จ.พิจิตร โดยมี นายอดิเทพ กมลเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ร่วมรายงานการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาพรวมของจังหวัดพิจิตร

จากการลงพื้นที่ตรวจราชการในครั้งนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้วางแผนการเร่งระบายน้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงต้องรอบคอบรัดกุมในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งสำรวจและเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง และแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะต้องเร่งทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทเชิงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ต้องครอบคลุมพื้นที่แบบรายลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ รวมทั้งต้องสอดรับกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน สำหรับ “โครงการบางระกำโมเดล” ถือว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สามารถรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี