ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำมาซึ่งการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์เพิ่มขึ้นกว่า 5,000 โครงการ ทั้งในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การเกษตร การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา ซึ่งล้วนมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างประโยชน์และความสุข ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493  ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น จำนวน 6 แห่ง ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิจัย ทดลอง ภายใต้บริบทภูมิประเทศและภูมิสังคม จนประสบความสำเร็จแล้วขยายผลสู่ประชาชน ผ่านการเรียนรู้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต ปัจจุบันมีการขยายผลศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริมากถึง 221 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2567) เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย นับตั้งแต่เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ การประมง ปศุสัตว์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปจนถึงการแปรรูปและหัตถกรรม โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และศูนย์สาขาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศทั้งในสถานการณ์ปกติและในภาวะวิกฤติผ่านกลุ่มเครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมมากกว่า 10,000 คนต่อปี มีผู้เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานมากกว่า 1,000,000 คนต่อปี  ปัจจุบันมีหลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์สภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่กว่า 93 เรื่อง “มีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้หลากหลายเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ยุคปัจจุบัน มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การเกษตรแบบอัจฉริยะ ระบบการจัดการข้อมูลการเกษตร รวมถึงการใช้เครื่องมือและแอปพลิเคชันดิจิทัลในการบริหารจัดการ การเงิน และการส่งเสริมการตลาดแบบพึ่งพาตนเองเป็นต้น” เลขาธิการ กปร. กล่าว 

ผลลัพธ์ที่ได้เห็น ความสุขที่ได้รับ คือ ความชัดเจนที่ประชาชนชาวไทยต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมกับการก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท น้อมนำพระราชดำริมาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงตนตามวิถีแห่งความพอเพียง พออยู่ พอกิน  และคงไว้ซึ่งความดี ความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อสานต่อความยั่งยืนตลอดไป ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ พระราชทาน ตามที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 กำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันนวมินทรมหาราช" มีความหมายว่า  วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่